วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เหล็ก.... คุณรู้จักมันดีแค่ไหน ? (ตอนจบ)

ก่อนอื่นต้องกล่าวว่าสวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่านครับ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับเทคนิคการสังเกตเหล็กรูปพรรณไปแล้ว คราวนี้ก็มาพบกับเทคนิคการสังเกตเหล็กอีก 2 ประเภทที่เหลือนั่นคือเหล็กเส้นและลวดเหล็กกันครับ อย่าได้เสียเวลา..เริ่มกันเลยดีกว่า

เหล็กเส้น ชื่อก็บอกอยู่แล้วครับว่าคือเหล็กเส้น โดยจะแบ่งเป็นเหล็กเส้นกลมและเหล็กข้ออ้อย บอกก่อนว่าเหล็กเส้นไม่มีจุดสังเกตอะไรที่ซับซ้อนมากมาย แค่มีชื่อย่อของตัวมันเท่านั้น

เหล็กเส้นกลม หรือ Round Bars เรียกย่อ ๆ ว่า RB โดยเหล็กชนิดนี้มีชั้นคุณภาพคือ SR24 ซึ่งการตีตราบนเหล็กหรือการเขียนให้เข้าใจคือ RB6 x 10 = เหล็กเส้นกลมขนาด 6 มม. ความยาวที่ 10 ซึ่งเหล็กเส้นกลมเองก็จะมีความยาว 1 เมตร 10 เมตร และ 12 เมตร ที่เป็นความยาวโดยหลักส่วนที่ความยาวอื่นนั้นก็มีครับก็แล้วแต่ความต้องการของผู้ใช้เหล็กเอง

เหล็กเส้นข้ออ้อย หรือ Deformed Bars เรียกย่อ ๆ ว่า DB โดยเหล็กชนิดนี้มาชั้นคุณภาพถึง 3 แบบครับ อันได้แก่ SD30 SD40 และ SD50 สำหรับเรื่องชั้นคุณภาพแตกต่างกันอย่างไรผมไม่ขอกล่าวถึงในตอนนี้ครับ เหล็กชนิดนี้การตีตราบนเหล็กก็คือจะตีตราเป็นตัวย่อแล้วตามด้วยขนาดและบนเส้นเหล็กเส้นเดียวกันนั้นก็จะตีตราบริษัทผู้ผลิตและระดับชั้นคุณภาพไว้ด้วยครับ เช่น DB16 SD40 บลส ก็หมายถึงเหล็กเส้นข้ออ้อย 16 มม. ชั้นคุณภาพที่ SD40 โรงผลิตคือ บลส ครับ ตรงนี้เค้าอาจตีบนเหล็กไม่ใกล้กันนะครับแต่มันจะอยู่บนเหล็กเส้นเดียวกันทั้งหมด เห็นไหมครับเหล็กเส้นง่ายมากไม่ยากเย็นอะไรเลย อ้อผมลืมไปสำหรับเรื่องเหล็กพับกับไม่พับอันนี้จะมีผลต่อการขนส่งครับ (จะใช้ทั้งกับเหล็กเส้นกลมและข้ออ้อย) ก่อนที่จะไปดูเหล็กตัวต่อไปเราไปชมรูปของเหล็กเส้นข้ออ้อยก่อนครับ

ลวดเหล็ก หรือ Steel Wire ลวดเหล็กตัวนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ตัวเดียวนะครับ มันแบ่งย่อยประเภทออกไปอีกหลายตัวแต่ผมจะยกมาเพียงแค่ 2 ตัวหลักก่อน เริ่มที่

ลวดเหล็กกล้าสำหรับคอนกรีตอัดแรง ( Prestressed Concrete Wire ) หรือเรียกสั้น ๆ ย่อ ๆ ว่า PC WIRE (พีซี ไวร์) โดยลวดเหล็กตัวนี้ก็มีหลายรูปแบบครับอันได้แก่ แบบเรียบ แบบหยัก รอยย้ำ แบบแชฟรอน แบบบั้ง แต่ตรงนี้ไม่มีความสำคัญอะไรเท่าไหร่นักเพราะทางเทคนิคแล้วทุกแบบสามารถแทนกันได้หมด ที่แทนกันไม่ได้ก็เห็นจะเป็นเรื่องขนาดเท่านั้น แต่ด้วยรูปแบบที่ต่างกันของลวดเหล็กในแต่ละแบบจะมีผลต่อการยึดเกาะของคอนกรีตเท่านั้นเองครับ โดยลวดเหล็กชนิดนี้จะมีขนาดที่ 4 – 9 มม. ครับ ซึ่งลวดเหล็กแต่ละขนาดก็จะแบ่งประเภท (เกรด) ออกเป็นขนาดละ 2 เกรด เช่น ขนาดที่ 4 มม. จะมีเกรดที่ 1670 กับ 1770 ตรงคำว่าเกรดสำคัญตรงไหนนั้นผมจะบอกให้ครับว่ามันคือความทนแรงดึงซึ่งระบุเป็นนิวตันต่อตารางมิลลิเมตร หากอยากรู้ว่าแต่ละเกรดต่างกันอย่างไรต่างกันขนาดไหนผมแนะนำว่าให้เอาตารางสเป็คของเหล็กชนิดนี้มากางดูครับแล้วคุณจะพบความแตกต่าง ก่อนที่เราจะไปดูรูปว่าหน้าตาเป็นอย่างไรผมขอสรุปก่อนว่า เหล็กตัวนี้เรียกว่า “PC WIRE” ซึ่งทุกโรงผลิตและทุกบริษัทจะเรียกเป็นชื่อนี้ทั้งหมด (เพราะคงไม่มีใครมาเรียกว่า ลวดเหล็กกล้าสำหรับคอนกรีตอัดแรง มันยาว… ) และที่ประการสำคัญคือเหล็กตัวนี้ต้องได้รับ มอก.95 นะครับ เพราะเหล็กชนิดนี้เค้าเอาไปใช้งานเกี่ยวกับโครงสร้างจึงจำเป็นมากที่ต้องได้มาตรฐานอุตสาหกรรม พูดมาซะยาวไปดูรูปกันเลยดีกว่า

ลวดเหล็กกล้าตีเกลียวสำหรับคอนกรีตอัดแรง (Prestressed Concrete Strand Wires) หรือ PC STRAND (พีซี สแตน) เป็นการนำลวดเหล็กคาร์บอนสูงที่ได้ลดขนาดแล้ว มาตีเกลียวจนได้ลวดเหล็กกล้าตีเกลียว ซึ่งโดยปกติจะเป็นการนำลวด 7 เส้น มาตีเกลียว จะมีก็แต่บางบริษัทเท่านั้นที่มีการนำลวด 3 เส้นมาตีเกลียว ซึ่งลักษณะก็จะคล้าย ๆ กับ PC WIRE คือจะมีการแบ่งเกรดออกเป็น 2 เกรดด้วย แต่ที่ต่างคือลวดเหล็กชนิดนี้นั้นถ้าหากว่าเป็นเกรด 1720 แล้วจะมีขนาดของลวดเหล็กที่ 9.3 12.4 และ 15.2 ซึ่งบางบริษัทอาจมีขนาดที่ 10.8 มม. ส่วนเกรด 1860 ก็จะมีขนาดที่ 9.5 12.7 และ 15.2 โดยบางบริษัทก็อาจมีขนาดที่ 11.1 มม. จะสังเกตได้ว่าลวดเหล็กชนิดนี้หากว่าสั่งไปที่ขนาดใดขนาดหนึ่งแล้วจะมีเพียงเกรดเดียวแต่จะยกเว้นสำหรับขนาดที่ 15.2 ที่จะมีทั้ง 2 เกรด สำหรับการสังเกตเหล็กประเภทนี้ก็จบเท่านี้ครับ แต่ผมขอเพิ่มเกร็ดเล็ก ๆ น้อย อีกอย่างนั้นคือ เหล็กตัวนี้จะมีการแบ่งประเภท Low Relaxation กับ Normal Relaxation ทางวิศวกรเค้ากระซิบผมว่าโดยหลักแล้วทั้ง 2 ชนิดนี้ต่างกันก็จริงแต่ถ้าหากผลิตตัว Low Relaxation มาแล้วมันจะครอบคลุมตัว Normal Relaxation ไปโดยปริยาย

ผมก็ขอจบการนำเสนอเรื่องราวในการสังเกตเหล็กแต่ละชนิดไว้เพียงเท่านี้ก่อน สำหรับเหล็กตัวใดที่ผมเองนั้นไม่ได้กล่าวถึงนั้นก็เนื่องมาจากว่าเหล็กตัวนั้นยังไม่มีความจำเป็นอะไรมากนัก แต่ถ้าหากในอนาคตเหล็กตัวใดที่ผมไม่ได้เขียนในบทความนี้ แต่มีคนถามกันเข้ามามากผมก็จะมานำเสนอให้ทุกท่านได้เรียนรู้กันครับ แล้วพบกันใหม่ในคราวต่อไป ส่วนจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรในวงการก่อสร้างนั้นก็ต้องคอยติดตามกัน สวัสดีครับ..

ระพีพัฒน์


ได้รับความเอื้อเฟื้อข้อมูลและภาพประกอบจากบริษัท ไทยไวร์โพรดักคท์, บางกอกสตีลไวร์, ระยองไวร์, ค้าเหล็กไทย

www.ebuild.co.th

เหล็ก… คุณรู้จักมันดีแค่ไหน?

สวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่านครับ วันนี้ผมมีเกล็ดเล็กเกล็ดน้อยมาให้ผู้อ่าน ที่แวะเวียนเข้ามาได้ลองอ่านกัน นั่นคือเคล็ด(ไม่)ลับ ในการดูเหล็กแต่ละชนิดมาให้อ่านครับ ผมคิดว่าบทความนี้ช่วยได้มากทีเดียวกับคนที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับวงการก่อสร้างอย่างผม ทุกคนคงสงสัยว่า เหล็ก มันยากตรงไหน เหล็ก ก็คือเหล็กไม่ใช่เหรอ ใช่ครับ เหล็กก็คือเหล็ก แต่รู้ไหมครับว่าเหล็กเค้าเอาไปทำอะไรตั้งหลายอย่างที่เกี่ยวกับวงการก่อสร้าง อันนี้ไม่นับเหล็กที่อยู่ในอาหารนะครับ นั่นเค้าเรียกธาตุเหล็ก อันนี้คงไม่เกี่ยวกัน เริ่มนอกเรื่องซะแล้วสิ ฮ่า ๆ ...

ก่อนอื่นต้องบอกว่าเหล็กเค้าเอาไปแปรรูปเป็นเหล็กชนิดต่าง ๆ ที่ผมรู้จักก็ได้แก่ เหล็กรูปพรรณ เหล็กเส้น และลวดเหล็กครับ อ้าวมีแค่ 3 ประเภทเองไหนว่าเยอะไง ใช่ครับถ้ามองแค่นี้มันไม่เยอะครับ แต่ว่าที่แยกย่อยไปอีกละครับ ปวดหัวกันแน่ ๆ ก่อนอื่นผมขอพูดไล่แต่ละประเภทของเหล็กแต่ละกลุ่มก่อนนะครับ ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มนี้ที่กล่าวไปแล้วในตอนต้นแล้วเป็นการแบ่งของผมเอง เพื่อที่จะให้ง่ายในการจดจำ และครั้งนี้ผมก็ขออนุญาตพูดถึงแต่ในส่วนของเหล็กรูปพรรณก่อนนะครับ พูดรวมทั้งหมดคงยาวแน่ ๆ อีกอย่างคือกันคุณผู้อ่านสับสน ซึ่งรวมผมด้วยครับ แหะ ๆ เหล็กรูปพรรณ ก็คือเหล็กที่เค้าเอามาทำขึ้นเป็นรูปทรงต่าง ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน ด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ ซึ่งรายละเอียดตรงนี้ผมขอละไว้นะครับเพราะผมมาพูดถึงชื่อของมันกับจุดสังเกตุของเหล็กแต่ละตัวมากกว่า เปรียบเทียบง่าย ๆ คือ ก็เหมือนทองคำนั่นแหละครับ ทองคำตอนแรกมันเป็นแท่ง ๆ ใช่ไหมครับไอ้ว่าจะเอามาใช้เป็นเครื่องประดับ จะเอามันมาคล้องคอตอนมันเป็นแท่ง ๆ ก็ใช่เรื่อง ต้องลำบากไปหาหมอให้วุ่นวายอีกเพราะคอเคล็ด เค้าเลยแปรรูปทองออกมาให้สวยงามเป็นเส้น ๆ ให้มันง่ายต่อการใช้งานและความสวยงามด้วยซึ่งก็คือทองรูปพรรณ หลักการก็เป็นแบบเดียวกันครับ เอาละครับมาเริ่มกันเลยดีกว่า


เหล็กแผ่น เหล็กแผ่นนี่ให้คิดไว้ก่อนเลยครับว่าเป็นเหล็กแผ่นดำ ซึ่งจริง ๆ มันมีเหล็กแผ่นขาวด้วย แต่โดยส่วนใหญ่ที่เค้าใช้กันคือ เหล็กแผ่นดำครับ แล้วเหล็กแผ่นดำกับเหล็กแผ่นขาวมันต่างกันยังไงละ ผมก็ไม่รู้ครับว่าเค้าเอาไปใช้งานต่างกันหรือเปล่า แต่ที่รู้คือขนาดของมันที่มีต่างกันครับ เหล็กแผ่นดำจะมีขนาดตั้งแต่ 4x8 ฟุต เรื่อยไปจนถึง 5x20 ฟุตครับในปัจจุบันมีขนาดกี่ฟุตแล้วผมก็ไม่ทราบครับแต่มันไม่หยุดแค่ 5x20 ฟุตแน่นอนครับ ส่วนเหล็กแผ่นขาวมีขนาดเดียวที่ 4x8 ฟุตครับ แล้วทั้ง 2 แบบมีหลายความหนาเหมือนกันครับ สำหรับเหล็กแผ่นขาวทั่วไปเค้าจะเรียกกันแบบเจาะจงไปเลยครับว่าเหล็กแผ่นขาว แต่ที่มีปัญหาบ่อย ๆ นั่นคือเหล็กแผ่นดำ โดยที่ผมได้ยินคนส่วนใหญ่เค้าเรียก ๆ กันก็มีดังนี้ เหล็กแผ่น, PLATE บางครั้งเค้าก็เขียนกันแค่ว่า PL อันนี้ให้ไปดูที่ขนาดให้ชัวร์ครับว่าเค้าจะเอาเหล็กอะไรกันแน่ ผมเคยเห็นบางครั้งนะครับเค้าเขียนมาว่าเหล็กแผ่น แต่ขนาดที่ต้องการกลับระบุมาว่าจะเอาเหล็กแบนซะงั้น อ้อผมลืมเหล็กแผ่นอีกตัวไปครับ นั่นคือเหล็กแผ่นลาย แต่ที่เห็นส่วนใหญ่ว่าถ้าหากว่าเค้าจะเอาเหล็กแผ่นลายเค้าจะระบุมาเลยว่าเป็นเหล็กแผ่นลายหรือ Checkered Plate ครับ สำหรับเหล็กแผ่นโดยหลัก ๆ ก็มีเท่านี้แหละครับ ก็ให้ระวังเรื่องเหล็กแผ่นดำแค่นั้นที่คนส่วนใหญ่มักมีชื่อเรียกที่แปลกออกไป

เหล็กแบน ตัวนี้ต้องบอกก่อนนะครับว่ามันไม่ใช่เหล็กแผ่น มันเหมือนกันก็จริงแต่เหล็กแบนตัวนี้มันออกจะยาวมากกว่าที่จะเป็นแผ่นนะครับเพราะโดยปกติแล้วมันมีความยาวที่ 6 เมตร ความกว้างกับความหนาก็แล้วแต่จะสั่งครับ ยกตัวอย่างนะครับ เหล็กแบนหน้ากว้างที่ 25 มม. หนาที่ 3 มม. แล้วยาวที่ 6 เมตร นึกภาพออกไหมครับว่าที่จริงมันยาวมากกว่าที่จะแผ่กว้างออกไปเป็นแผ่น ถ้านึกไม่ออกก็ดูรูปเลยครับ (แล้วจะอธิบายทำไมให้มันยืดยาวเนี่ย..)

ส่วนชื่อที่เรียกกันก็มี เหล็กแบน, Flat Bars บางครั้งจะเห็นเขียนย่อ ๆ ว่า F/B ก็ให้เข้าใจตามนี้นะครับว่าทั้งหมดนี้คือเหล็กแบน


เหล็กโครงสร้างรูปตัวซี (Lip Channel) เหล็กตัวนี้ไม่มีอะไรมากครับ ที่เห็นส่วนใหญ่เรียกกันก็คือเหล็กตัวซี หรือเขียนย่อ ๆ ว่า C ซึ่งก็เหมือนเดิมครับให้เราไปสังเกตุที่ขนาดเอาว่าเค้าต้องการเหล็กอะไรกันแน่ครับ เพราะมันจะไปสับสนกันระหว่างตัวเหล็กรางน้ำครับดูรูปเปรียบเทียบกันเลยดีกว่าครับ


เห็นไหมครับด้วยความที่ลักษณะมันคล้าย ๆ กันบางคนก็สับสนเหมือนกันซึ่งผมเองก็เป็นครับ มีจุดสังเกตตรงนี้ครับเห็นส่วนที่ยื่นเข้าไปตรงเหล็กตัวซีนั่นไหมครับ ตรงนั้นแหละครับคือจุดสังเกตที่ดีที่สุด อย่างนี้นะครับ เหล็กตัวซีจะมีขนาดที่ HxAxC ซึ่งจะต่างกับเหล็กรางน้ำที่มีขนาดที่ HxB เท่านั้น แค่นี้ละครับจุดสังเกตเล็ก ๆ น้อยที่ผมนำมาฝากกัน ไหน ๆ ก็พูดมาถึงเหล็กรางน้ำตัวต่อไปก็เหล็กรางน้ำเลยแล้วกันครับ


เหล็กรางน้ำ ตัวนี้ได้ปวดหัวกันแน่ ๆ ครับ ซึ่งผมเองก็ยังปวดหัวอยู่จนถึงทุกวันนี้ ตัวเหล็กรางน้ำอย่างที่บอกข้างต้นว่ามันคล้าย ๆ กับเหล็กตัวซีแล้วมันมีอีกตัวครับที่เหมือนกันยังกับแกะ แต่เมื่อเรารู้ข้อสังเกตเกี่ยวกับเหล็กตัวซีแล้ว ดังนั้นก็ตัดตัวนี้ออกไป สำหรับเหล็กอีกตัวที่ผมจะพูดถึงก็คือเหล็กรางครับ เห็นไหมครับเรียกคล้ายกันขนาดนี้ แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าเป็นเหล็กตัวไหน เริ่มกันเลยดีกว่ากับเหล็กรางน้ำครับตัวเหล็กรางน้ำเองส่วนใหญ่เค้าเรียกกันว่าเหล็กรางน้ำนั่นแหละครับภาษาอังกฤษก็คือ CHANNEL ขนาดของมันก็คือ HxB t1 t2 ครับ ดูภาพประกอบเลยก่อนดีกว่ากันสับสน อธิบายดังนี้นะครับ ตัว t1 กับ t2 ก็คือความหนาครับ โดยทั้งสองตัวนี้จะมีความหนาไม่เท่ากันนะครับ

ที่นี้เรามาอธิบายตัวเหล็กราง ซึ่งก็มีหลายชื่อครับอันได้แก่ เหล็กรางบาง เหล็กรางพับ หรือเหล็กรางครับ ภาษาอังกฤษเค้าให้ชื่อว่า LIGHT CHANNEL ซึ่งเหมือนเป็นมาตรฐานครับเพราะผมสังเกตจากบริษัทเกือบทุกบริษัทเค้าเรียกภาษาไทยต่างไปแต่ภาษาอังกฤษมักจะใช้ชื่อนี้ครับ โดยขนาดระบุกันก็คือ HxBxC t1 ครับ ถึงตรงนี้คงสงสัยว่าทำไมมีความหนาเดียวละ อธิบายแบบนี้ครับว่าเหล็กตัวนี้เหมือนเหล็กแผ่นแล้วพับขึ้นรูปครับ ก็เลยมีความหนาเดียว ดูรูปประกอบกันเลยดีกว่า

จากที่มองรูปแล้วทุกคนคงสงสัยเหมือนผมใช่ไหมครับว่าทำไมมีตัว xC ด้วย อธิบายแบบนี้ครับเห็นตัวที่มันยื่นขึ้นไปไหมครับ ไอ้ตรงตัว H นั่นแหละครับ คือว่าทั้งสองด้านนั้นบางครั้งมันมีขนาดไม่เท่ากันครับเค้าจึงกำหนดมาเป็นขนาด HxBxC ไงละครับ จุดสังเกตก็มีเท่านี้ละครับ มาที่ตัวต่อไปกันเลยดีกว่า


เหล็กไอบีม เหล็กไวด์แฟรงค์ และเหล็กเอชบีม ทำไมผมถึงเอาทั้งสามตัวมาพูดรวมกันเลยนั้นเพราะว่าเป็นแบบนี้ครับทั้งสามตัวมีลักษณะคล้ายกันหมดทุกตัวครับ ยกตัวอย่างเหล็กไอบีมกับเหล็กเอชบีมนะครับ ถ้าเราให้ตัวไอมันล้มตะแคงไปด้านข้างมันกลายเป็นตัวอะไรครับ ที่คิดนะถูกแล้วครับมันก็กลายเป็นตัวเอช ซึ่งเหมือนกันกับตัวเอชนั่นแหละครับถ้าเราจับมันตั้งขึ้นมันก็กลายเป็นตัวไอไปเลย ซึ่งก็เหมือนกันกับเหล็กไวด์แฟรงค์ เพราะถ้าเราจับตั้งก็เป็นตัวไอ จับมันนอนมันก็เป็นตัวเอช แล้วถ้าอย่างนั้นเราจะดูยังไงได้ละว่าตัวไหนเป็นตัวไหน ผมแนะนำแบบนี้ครับให้คุณไปหาตารางเหล็กออกมากางเลยครับ กางทั้งสามตัวเลยครับว่ามันแตกต่างยังไง มันแตกต่างแน่นอนครับ จากการที่ผมเองได้ลองมองตารางเหล็กเปรียบเทียบครับ สรุปจุดสังเกตของผมดังนี้ครับ ตัวแรกเหล็กเอชบีมจะมีขนาด HxB เท่ากันครับอย่างเช่น 100x100 150x150 จะเป็นแบบนี้เสมอสำหรับเหล็กเอชบีมครับ ถ้ามันเป็น 100x50 หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่ขนาด HxB ไม่เท่ากัน มันจะไม่ใช่เหล็กเอชบีม อย่างแน่นอนครับ ผมขอฟันธง! ขอสังเกตของเหล็กตัวต่อไปครับ เหล็กไอบีม ถ้าใครได้กางตารางเหล็กออกมาดูแล้วก็จะเห็นความแตกต่างดังนี้ครับ อย่างแรกเหล็กไอบีมในบางขนาดจะมีหลายความหนา และโดยปกติเหล็กไอบีมที่ขนาดเดียวกันกับเหล็กไวด์แฟรงค์ความหนาของแต่ละด้านจะหนากว่าเหล็กไวด์แฟรงค์ เช่น ขนาดที่ 150x75 เหล็กไอบีมจะมีความหนาแต่ละด้านที่ 5.5 กับ 9.5 ในขณะที่เหล็กไวด์แฟรงค์จะหนาแค่ 5.0 กับ 7.0 เท่านั้น ผมขอสรุปข้อสังเกตของผมเองให้มองง่าย ๆ ดังนี้ เหล็กเอชบีมให้ดูขนาดที่ HxB จะมีขนาดทั้งสองด้านเท่ากันเสมอ เหล็กไอบีมจะมีความหนามากกว่าเหล็กไวด์แฟรงค์ และมีความหนาอยู่หลายความหนา เอาเป็นว่าผมแนะนำให้ดูที่ตารางเหล็กเพื่อความชัวร์และถูกต้องครับ


เหล็กกล่อง ในตัวนี้ผมหมายถึงเหล็กแป๊บนะครับ ไม่ว่าจะเป็นแป๊บเหล็กสี่เหลี่ยม(เหล็กแป๊บ) หรือแป๊บเหล็กสี่เหลี่ยมแบน(แป๊บแบน) ลักษณะของมันนั้นถ้าเรามองพื้นที่หน้าตัดก็เหมือนกับกล่อง กล่องหนึ่งที่แค่มันกลวงตรงกลางแล้วลักษณะจะยาวเท่านั้นเองครับ ข้อแตกต่างระหว่าง 2 ตัวนี้คือ ถ้าขนาดกว้างกับสูง (DxD) เท่ากันก็จะเป็นเหล็กแป๊บสี่เหลี่ยม ถ้าขนาดกว้างกับสูง (DxB) ไม่เท่ากันก็จะเป็นเหล็กแป๊บแบนครับ ข้อสังเกตุของเหล็กสองตัวนี้ก็มีเท่านี้ครับ ไม่มีอะไรซับซ้อนมากมายนักแล้วมันก็ไม่เหมือนกับชาวบ้านเค้าด้วย

เหล็กฉาก เหล็กตัวนี้ก็ไม่มีอะไรมากมายครับแค่ผมจะบอกว่าในบางคน(ครั้ง) เค้าจะเขียนมาว่าเหล็กรูปพรรณ L ซึ่งมันก็คือเหล็กฉากนั่นแหละครับ สั้น ๆ ง่าย ๆ เพราะว่าเหล็กตัวนี้ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ

มาถึงเหล็กตัวสุดท้ายที่ผมจะแนะนำคือ ท่อเหล็กดำ และ ท่อเหล็กอาบสังกะสี สองตัวนี้เป็นท่อเหมือนกันแต่คุณสมบัติของมันต่างกันครับ สำหรับการใช้งานนั้นผมก็ไม่ทราบนะครับว่าใช้งานต่างกันด้วยหรือเปล่า ข้อสังเกตของเหล็กตัวแรกคือ ท่อเหล็กดำนั้นจะมีหลายความหนาใน 1 ขนาด เช่น ที่ขนาด 1 นิ้ว ก็จะมีความหนาตั้งแต่ 1.2 1.4 1.7 2.0 2.3 2.5 มม. เรื่อยไป ซึ่งก็แล้วแต่ผู้ผลิตเองว่ามีถึงความหนาที่เท่าใด ส่วนท่อเหล็กอาบสังกะสี(Galvanized Steel Pipes) หรือ ที่เรียก ๆ กันก็คือ ท่อ GSP โดยท่อชนิดนี้จะมีความหนาเดียวใน 1 ขนาด เช่น ขนาด 1 นิ้ว ความหนาก็คือ 2.6 มม. ในชั้น BS-S อธิบายเพิ่มเติมตรงนี้ว่า ท่อ GSP นั้นจะแบ่งเป็นชั้นการเคลือบ 3 ชั้นคือ BS-S(คาดเหลือง), BS-M(คาดน้ำเงิน), BS-H(คาดแดง) ซึ่งความหนาในแต่ละชั้นก็จะต่างกันไปเช่น ขนาด 1 นิ้ว หนาที่ 2.6 มม.ที่ BS-S หนา 3.2 มม.ที่ BS-M และหนา 4.0 มม.ที่ BS-H หลักการสังเกตุก็มีเท่านี้แหละครับ สำหรับการสังเกตุเหล็กแต่ละตัวและชื่อที่เรียกต่าง ๆ กันจากประสบการณ์ที่ผมพบมาก็มีเท่านี้แหละครับ ส่วนเหล็กที่ผมไม่ได้กล่าวถึงก็คงไม่มีอะไรลึกซึ้งซับซ้อนมากเท่าไหร่ จากที่ผมรวบรวมข้อมูลมาให้ท่านผู้อ่านได้รู้กัน คงมีประโยชน์บ้างสำหรับผู้ที่ต้องใช้มันเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเช่นเดียวกับผม แล้วคอยพบกันคราวต่อไปกับ เหล็กเส้นและลวดเหล็กที่ผมจะเอามาให้อ่านในคราวต่อไปครับ


ระพีพัฒน์

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก SLK STEEL

www.ebuild.co.th






วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ครบเครื่องเรื่องสุขภัณฑ์ ตอนที่ 6 “ ตอนที่หก จบสักที ” กับเรื่องสุดท้าย “ ไปลงอ่างกันเถอะ ! ”




หลังจากที่เกริ่นไปตอนที่แล้วว่า ผมจะพาทุกท่านไปลงอ่างผมไม่ได้โกหกนะครับ ผมจะพาทุกท่านไปจริง ๆ แต่มันไม่ใช่การลงอ่างแบบที่คุณผู้ชายส่วนใหญ่ คิด และอยากที่จะไปสัมผัสกัน ที่ผมจะพาไปคืออ่างอาบน้ำครับ (แต่ว่าสุขภัณฑ์ชิ้นนี้อยู่ในที่แห่งนั้นจริง ๆ ซึ่งในห้อง ๆ นั้นก็มีเพียงสุขภัณฑ์อ่างอาบน้ำเท่านั้น ไม่มีชักโครก! ) แล้วทำไมต้องชวนกันไปลงด้วยล่ะ นั่นก็เพราะว่าผมจะพูดถึงประเภทอ่างอาบน้ำและระบบการทำงานของอ่างอาบน้ำวนว่ามีแบบไหน และเป็นอย่างไรบ้าง อย่าเสียเวลากันเลยครับเพราะไม่เช่นนั้นแล้วได้เลยเถิดกันไปไกลแน่ ๆ


ก่อนที่เราจะลงลึกว่าอ่างอาบน้ำมีแบบไหนบ้างผมก็ขอพูดประวัติของอ่างอาบน้ำคร่าว ๆ ให้ฟังก่อนครับ เราต้องย้อนกลับไปในช่วงราว ๆ 3300 ปี ก่อนคริสตกาล ในบันทึกเอกสารเรื่องราวของอารยธรรมโบราณของอินเดียในการวางระบบประปาในสมัยนั้นมีการบันทึกไว้ว่า มีการสร้างอ่างขนาดประมาณ 5 ฟุต หรือ 1.5 เมตรเอาไว้ ซึ่งอาจหมายความว่า อ่างอาบน้ำได้เริ่มกำเนิดขึ้น ณ ที่แห่งนั้น เวลานั้นนั่นเอง แต่อ่างอาบน้ำชนิดนี้ก็เป็นเพียงแค่อ่างอาบน้ำแบบธรรมดา ไม่ใช่ระบบน้ำวนที่ดูหรูหราในแบบที่ใช้กันในทุกวันนี้ แล้วเรื่องราวมันเริ่มต้นมาจากไหนล่ะ ผมก็จะเล่าให้ฟังครับ เรื่องราวก็ต้องย้อนกลับไปในช่วงปี ค.ศ.1900 ช่วงนั้น 7 พี่น้องตระกูล จากุซซี่ อพยพถิ่นฐานจากบ้านเกิดเมืองเดิมในอิตาลี มาตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกา รัฐแคลิฟอร์เนีย พวกเขาเริ่มต้นธุรกิจด้วยการขนส่งทางอากาศ ก่อนที่จะหันมาผลิตปั้มน้ำขนาดเล็ก ในปี ค.ศ. 1956 รอย จากุซซี่ ซึ่งเป็นรุ่นที่ 3 ของตระกูล เขามีนิสัยชอบศึกษาธุรกิจของครอบครัวมาตั้งแต่วัยรุ่น และให้ความสนใจในเรื่องสุขภาพ การออกกำลังกาย รวมทั้งกิจกรรมยามว่างของผู้คน นั่นทำให้เขาคิดค้นสิ่งประดิษฐ์อ่างอาบน้ำวนขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกโดยได้กำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 1968 และเพราะผู้ประดิษฐ์คิดค้นมาจากตระกูล “จากุซซี่” ผู้คนส่วนใหญ่จึงเรียกอ่างอาบน้ำวนว่า จากุซซี่ นั่นเอง

คราวนี้ก็มาถึงเรื่องอ่างอาบน้ำว่ามีกี่แบบกันครับ ถ้าหากว่าให้ผมแบ่งละก็ผมก็แบ่งเป็นแค่ 2 ประเภทครับ นั่นคือ อ่างอาบน้ำธรรมดา กับอ่างอาบน้ำวนเท่านั้น ที่ผมแบ่งแค่นี้ก็เพราะที่จริงแล้วอ่างอาบน้ำไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมากมายเหมือนสุขภัณฑ์ชิ้นอื่น ๆ เอาเป็นว่าไปดูแบบแรกกันดีกว่าครับ

อ่างอาบน้ำธรรมดา ชื่อก็บอกอยู่ว่าธรรมดา อ่างที่เราจะได้เห็นต่อไปนี้ก็ต้องเป็นอ่างธรรมดา ๆ ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ แต่ถ้าคุณอยากให้มันเป็นอ่างที่พิเศษกว่าอ่างอาบน้ำธรรมดาทั่ว ๆ ไปก็คงต้องอาบกับคนพิเศษ ๆ ช่วยกันขัดช่วยกันถู แค่นี้อ่างอาบน้ำธรรมดา ๆ ก็พิเศษแล้วครับ (นอกเรื่องจนได้)

อ่างอาบน้ำวน อย่างที่ผมได้เล่าประวัติความเป็นมาแบบคร่าว ๆ ว่ามีต้นกำเนิดมาจากตระกูล จากุซซี่ อ่างชนิดนี้ผู้คนส่วนใหญ่จึงนิยมเรียกชื่อนี้ ถึงแม้ว่าปัจจุบันมันไม่ได้ผลิตมาจากบริษัทนี้เพียงบริษัทเดียวก็ตาม (ปัจจุบันบริษัท จากุซซี่ ก็ยังมีอยู่) จากที่ผมได้สอบถามและลองศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลดูพบว่า อ่างอาบน้ำวนนั้นไม่ได้มีเพียงแบบเดียว หลัก ๆ แล้วอ่างชนิดนี้มี 2 แบบด้วยกันคือ Whirpool กับ Airpool โดยแบบ Whirpool จะอาศัยแรงดันของน้ำในการทำให้น้ำวนอยู่ในอ่าง ส่วนแบบ Airpool จะอาศัยแรงดันจากฟองอากาศ แล้วทั้งสองแบบก็จะทำให้น้ำในอ่างวนไปวนมา เพื่อที่ช่วยนวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ผ่อนคลายความเมื่อล้า หรือความเคร่งเครียดต่าง ๆ เหมือนกับว่าเป็นการบำบัดโรคอีกวิธีหนึ่งเลยทีเดียว ปัจจุบันนี้ในหลาย ๆ บริษัทก็รวมทั้งสองแบบให้ทำงานอยู่ในอ่างเดียวกันเพื่อความมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และในบางบริษัทก็เพิ่มฟังก์ชั่นการทำงานอื่น ๆ เพิ่มขึ้นมาอีก เช่น ระบบโอโซน และระบบปลอดเชื้อ สนนราคาของอ่างอาบน้ำก็ถือว่าแพงทีเดียว ยกตัวอย่างว่าถ้าหากอ่างธรรมดาราคา หมื่นต้น ๆ ราคาของอ่างอาบน้ำวนในรุ่นเดียวกันก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และถ้าหากยิ่งเพิ่มระบบโอโซนเข้าไปด้วยไม่อยากจะบอกเลยว่าราคาก็แสนต้น ๆ เท่านั้น ซึ่งผมว่าแพงทีเดียว แต่ถ้าหากจะให้ผมบอกว่ามันคุ้มค่าไหม ที่จะนำมาติดตั้งไว้ภายในบ้าน ผมก็คงฟันธงไม่ได้ เพราะเหตุผลของแต่ละคนย่อมแตกต่างกัน เอาเป็นว่าลองคิดทบทวนดูละกันครับว่าเหมาะไหมที่ท่านผู้อ่านจะนำมันมาใช้และครอบครองเป็นเจ้าของ


เอาละครับ คราวนี้ก็เดินทางมาถึงช่วงสุดท้าย ซึ่งท้ายที่สุดจริง ๆ กับครบเครื่องเรื่องสุขภัณฑ์ หวังว่าข้อมูลที่ผมหามาให้ท่านผู้อ่านได้อ่านกันตั้งแต่ตอนแรก จนเดินทางมาถึงตอนที่ 6 นั้นคงจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง คราวหน้าผมจะนำเรื่องใดมาฝากให้ท่านผู้อ่านได้ติดตามนั้นก็คงต้องขออุปส์ ไว้ก่อน (ที่จริงยังคิดไม่ออก 55+) จะเป็นมหากาพย์สุดยิ่งใหญ่อย่าง ครบเครื่องเรื่องสุขภัณฑ์หรือไม่ หรือว่าจะมาแบบทีเดียวจบ อันนี้ก็ต้องคอยติดตามกันนะครับ สำหรับครั้งนี้ขอลาไปก่อน สวัสดีครับ

ระพีพัฒน์

ข้อมูลประกอบ Wikipedia, จากุซซี่ สวรรค์ในบ้าน, jacuzzihottubs.com
ภาพประกอบ COTTO, Internet, jacuzzihottubs.com


 

สถิติ