วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2555

What is . . . PC ?  [Steel Wires for Prestressed Concrete : PC Wire]
PC คืออะไร [ลวดเหล็กกล้าสำหรับคอนกรีตอัดแรง]


สวัสดีครับท่านผู้อ่าน จากที่ผมได้ห่างหายไปนาน แล้วก็ได้เข็นเรื่องประตูไม้อัดออกมาให้ท่านผู้อ่านได้อ่านกันไปก่อน ผมกลับมาอีกแล้วครับ กลับมาพร้อมกับคำถามที่ว่า PC คืออะไร  หลาย ๆ คนคงคิดว่าเป็นการเรียกชื่อคอมพิวเตอร์สำหรับบุคคลหรือชื่อเต็ม ๆ ก็คือ Personal Computer นึกภาพง่าย ๆ ก็คือคอมพิวเตอร์ที่เราใช้ ๆ กันทั่วไปนั่นแหละครับ สำหรับใครที่คิดว่าพีซีคือเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น คุณได้คิดถูกแล้วครับ แต่ แต่ แต่ว่าที่ผมจะพูดจริง ๆ มันเป็นเรื่องวัสดุก่อสร้าง ดังนั้นใครที่จะคิดว่าเป็นคอมพิวเตอร์ ให้เปลี่ยนความคิดครับ ย้ำนะครับให้เปลี่ยนความคิด และผมก็จะไม่บอกด้วยว่าที่คิดว่าเป็นคอมพิวเตอร์แต่แรกนั้นผิด เพราะความคิดและจิตใจของแต่ละคนนั้นเราไม่มีทางที่จะบังคับกันได้ครับ ขอแค่ให้เราทำที่ถูกที่ควรทำเพื่อสังคมผมว่าเท่านี้ก็น่าจะพอนะครับ  แล้วผมก็นอกเรื่องจนได้สิครับท่านผู้อ่าน เอาเป็นว่าเรากลับเข้าเรื่องวัสดุก่อสร้างของเราดีกว่า
                สำหรับ PC ที่มันเกี่ยวกับก่อสร้าง ท่านผู้อ่านนึกภาพหรือเดาชื่อวัสดุก่อสร้างที่ผมจะมาเขียน (พิมพ์) ออกบ้างกันหรือยังครับ หากนึกไม่ออกให้ท่านผู้อ่านลองกลับไปอ่านบทความเรื่อง เหล็กคุณรู้จักมันดีแค่ไหน ที่เป็นตอนจบดูครับ แล้วท่านจะพบคำตอบ  ใช่แล้วครับวัสดุก่อสร้างที่ผมจะพูดวันนี้คือ ลวดเหล็ก ถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่า ก็เคยพูดไปแล้ว ทำไมจะต้องกลับมาพูดอีก ที่ผมต้องกลับมาพูดอีกนั้นก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจกับตัววัสดุก่อสร้างตัวนี้มากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะในครั้งนั้นที่ผมได้มาแนะนำไว้มันเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังไม่ลงลึกเท่าไหร่นัก ส่วนสำหรับวันนี้นั้นผมก็จะมาพูดเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น เท่าที่สมองสองมือของผมจะบรรยายให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจครับ 
                ก่อนอื่นก็ต้องแนะนำตัวกันก่อนสำหรับวัสดุก่อสร้างที่ผมจะพูดในวันนี้นั้นมี 2 ชนิดที่ผมจะพูดครับ นั่นคือ PC Wire กับ PC Stand ครับ ซึ่งทั้งสองชนิดนี้เป็นลวดเหล็กทั้งคู่ครับ ไปเริ่มที่ตัวแรกกันก่อนครับ
PC Wire  ชื่อเต็ม  Steel Wires for Prestressed Concrete  ชื่อทางภาษาไทย ลวดเหล็กกล้าสำหรับคอนกรีตอัดแรง
                ลวดเหล็กกล้าสำหรับคอนกรีตอัดแรงนี้ ผลิตขึ้นจากเหล็กลวดชนิดคาร์บอนสูง ดึงลดขนาดให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ โดยเหมาะสำหรับงานคอนกรีตอัดแรงต่าง ๆ ในเกือบทุกประเภทอาทิเช่น นำไปใช้ในการผลิตเสาเข็ม เสาไฟฟ้า แผ่นพื้นสำเร็จรูป ไม้หมอนคอนกรีตรางรถไฟ  เป็นต้น โดยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของลวดชนิดนี้ในทุกบริษัท จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 4 – 9 มิลลิเมตร  และในปัจจุบันนี้ลวดชนิดนี้จะมีมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ มอก.95-2540 โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงจากฉบับเดิมนั่นคือ มอก.95-2534  และจากนี้ไปผมจะพูดถึงคุณสมบัติทางกลเป็นข้อ ๆ ที่ส่วนใหญ่เกิดคำถามกันมากมาย โดยมีสิ่งที่ถูกถามกันมากที่สุดอยู่ 4 ข้อ นั่นคือ
1.                เกรดที่ระบุในสเป็คสินค้ามีผลอย่างไรไหมกับการนำไปใช้งาน
2.               Low Relaxation กับ  Normal Relaxation คืออะไรและมีผลอย่างไร
3.               รอยย้ำของผิวลวดที่ต่างกันมีผลอย่างไร
4.               เครื่องหมายและฉลากในลวดเหล็กเป็นอย่างไร  แล้วอ่านอย่างไร
และก่อนที่เราจะไปลงลึกถึงรายละเอียดของทั้ง 4 หัวข้อนี้ ผมอยากจะบอกว่าในแต่ละหัวข้อนั้นอาจจะทำให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์เบื่อขึ้นมาได้ ผมจึงแนะนำว่า ถ้าหากท่านผู้อ่านสนใจอยากที่จะรับรู้เพียงหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งแล้วนั้นก็ให้ท่านผู้อ่านเลื่อนไปอ่านยังหัวข้อที่สนใจได้เลย ผมรับรองว่าท่านจะไม่สับสนอย่างแน่นอน ดังนั้นแล้วผมจึงทำหัวข้อทั้ง 4 นี้ไว้ให้เห็นได้โดยง่ายและชัดเจน เพื่อให้ง่ายในการหาอ่านโดยผมได้ทำเป็นตัวใหญ่บิ๊กไว้แต่ละหัวข้อเรียบร้อยครับ  แต่ถ้าหากเป็นไปได้ผมก็อยากให้ทุกท่านได้อ่านกันแบบเต็ม ๆ เพราะผมตั้งใจจริงในการหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์มีความรู้ มาให้ท่านผู้อ่านได้อ่านกัน เอาเป็นว่าอย่าเพิ่งเบื่อผมกันเลยนะครับ  เราไปลงลึกกันในแต่ละหัวข้อกันดีกว่า


1.           เกรดที่ระบุในสเป็คสินค้ามีผลอย่างไรไหมกับการนำไปใช้งาน 
                สำหรับใครที่ยังสงสัยว่าลวดเหล็กกล้าสำหรับคอนกรีตอัดแรงนั้นมีเกรดที่ระบุนั้นอยู่ตรงไหน ผมขอยกภาพจากบริษัทผู้ผลิตมาให้ดูเป็นตัวอย่างแล้วกันครับ 





จากรูปตัวอย่างที่ผมมาให้ได้ชม เกรดนั้นจะระบุอยู่ใน ตาราง Specification ในทุก ๆ บริษัทครับ โดยเมื่อเรามองแบบผิวเผินแล้ว ทุกคนคงคิดว่าไม่มีอะไรที่เห็นว่าแตกต่างกันตรงไหน แต่ถ้าหากมองให้ลึกลงไปแล้วก็จะพบความแตกต่างกันครับ หากจะให้อธิบายนั้นก็คงเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน ผมขอสรุปว่า เกรดที่แตกต่างกันนั้น มันเป็นค่าการทนแรงดึงระบุเป็น นิวตันต่อตารางมิลลิเมตร โดยคำนวณจากพื้นที่หน้าตัดที่ระบุกับค่าลักษณะ เฉพาะแรงดึงสูงสุดโดยปัดเศษถึง 10 นิวตันต่อตารางมิลลิเมตรที่ใกล้เคียงที่สุด

2.           Low Relaxation กับ Normal Relaxation คืออะไร และมีผลอย่างไร
                                Relaxation หรือ ความผ่อนคลาย หมายถึง ความเสื่อมสูญของแรงดึงตามระยะเวลาของลวดที่มีความยาวคงที่ คิดเป็นร้อยละของแรงดึงเริ่มแรกที่ใช้กับลวด  ส่วนสำหรับมีผลอย่างไรนั้นทางวิศวกรเค้าได้บอกว่าโดยปกติแล้วมันมีผลในเชิงลึก  แต่ทางวิศวกรเองก็ได้อธิบายเพิ่มมาอีกว่า Low กับ Normal นั้น เมื่อผลิต Low Relaxation มาแล้ว จะครอบคลุมตัว Normal Relaxation ไปด้วย จึงเป็นเหตุผลที่ว่าในท้องตลาดส่วนใหญ่นั้นมักนิยมที่จะสั่งผลิตเฉพาะตัว Low Relaxation  และก่อนจบไปกับคำถามนี้ผมมีภาพ Specification ของบริษัทผู้ผลิตมาให้ชมครับว่า Relaxation หากเราดูในตาราง Specification นั้น อยู่ตรงส่วนใดของตาราง ตรงที่ผมทำเครื่องหมายสีแดงไว้ที่ภาพนั่นเลยครับ







3.           รอยย้ำของผิวลวดที่ต่างกันมีผลอยางไร
                ก่อนอื่นเราไปทำความรู้จักกับผิวลวดแต่ละตัวกันก่อนดีกว่าว่าที่จริงแล้วหน้าตามันเป็นอย่างไร เริ่มกันที่
Plain wire หรือแบบเรียบ หมายถึง ลวดที่มีผิวตามที่ได้จากการที่ใช้ดึง มีพื้นที่ภาคตัดขวางสม่ำเสมอลักษณะผิวและแนวแถบไม่เปลี่ยนแปลงเป็นคาบตลอดความยาว


Indented wire หรือแบบรอยย้ำ หมายถึง ลวดซึ่งผิวมีรอยย้ำเป็นระยะเท่า ๆ กัน ตลอดความยาว



Crimped wire หรือแบบหยัก หมายถึง ลวดที่เปลี่ยนแปลงแนวแกนอย่างสม่ำเสมอในระนาบเดี่ยวหรือในรูปของเกลียว ซึ่งเกิดขึ้นโดยกรรมวิธีทางกลหลังการดึงเย็น



Chevron wire หรือแบบบั้ง  ในรูปแบบนี้ทาง มอก. ไม่ได้ระบุความหมายไว้แต่อย่างใด ผมก็ขอติต่างความหมายขึ้นใช้เองโดยชั่วคราวว่า ลวดซึ่งมีรอยย้ำในแนวเฉียงคล้ายลักษณะการบั้ง เป็นระยะเท่า ๆ กันตลอดความยาวครับ



Spiral wire หรือแบบเกลียว โดยในรูปแบบนี้ทาง มอก. ก็ไม่ได้ระบุไว้เช่นกัน ผมก็ขอสร้างความหมายขึ้นเองว่า เป็นลวดซึ่งมีรอยย้ำวนรอบเป็นเกลียวในระยะเท่า ๆ กันตลอดความยาวครับ   


สำหรับคำถามที่ว่ารอยย้ำที่ต่างกันมีผลอย่างไรในการนำไปใช้งาน ผมขอฟันธงไว้ตรงนี้เลยว่าไม่มีผลใด ๆ กับทางเทคนิคครับ จะมีผลก็เพียงแค่รอยย้ำที่ต่างกัน มีผลต่อการยึดเกาะของคอนกรีตเท่านั้นครับ




4.           เครื่องหมายและฉลากในลวดเหล็ก เป็นอย่างไร แล้วอ่านอย่างไร
                                หลาย ๆ ท่านคงจะงงกับผมว่าทำไมผมต้องยกเรื่องเครื่องหมายและฉลากมาพูด ก่อนอื่นผมต้องบอกว่าโดยปกติแล้วเหล็กส่วนใหญ่จะมีการตีตราลงไปว่าผลิตจากที่ไหน และเป็นประเภทไหนยกตัวอย่างเช่น เหล็กเส้น อันนี้ผมเห็นเองกับตาว่าเค้าตีตรายี่ห้อ ประเภทและขนาดลงบนตัวเหล็กเลย แต่จะให้ทำแบบเดียวกันกับลวดเหล็กผมเกรงว่าคงต้องใช้แว่นขยายประกอบการอ่านประเภทเหล็กครับ แต่ลวดเหล็กนั้นเค้าก็มีฉลากเช่นกัน เหมือนกะปิน้ำปลาหรือสินค้าโดยทั่วไป แต่ที่ไม่เหมือนคือเค้ามีแบบเป็นตัวย่อ ให้เราได้มานั่งมองพินิจพิเคราะห์กันอีกทีว่าที่จริงแล้วลวดเหล็กที่ผลิตมาเป็นประเภทไหน ขนาดที่เท่าไหร่ เอาละครับผมว่าเราไปเริ่มเรียนรู้กันดีกว่าว่ามันอ่านอย่างไร และมีอะไรในฉลากบ้าง โดยใน มาตรฐานอุตสาหกรรมหรือ มอก. ใด้ระบุว่าในฉลากจะของลวดเหล็กจะต้องประกอบไปด้วยดังนี้ครับ
ที่ลวดทุกขดต้องมีป้ายติดอยู่ และที่ป้ายนั้นอย่างน้อยต้องมีเลข อักษรหรือเครื่องหมายแจ้งรายละเอียดต่อไปนี้ให้เห็นง่าย ชัดเจน”
1.                ชื่อผลิตภัณฑ์ เป็นภาษาอังกฤษว่า “PC WIRE”
-          ตามด้วยอักษร M สำหรับลวดชนิดไม่คลายความเค้น  หรือ
-          ตามด้วยอักษร S สำหรับลวดชนิดคลายความเค้น
2.                ตัวอักษรแสดงแบบตามลักษณะผิวของลวด
-          สำหรับแบบเกลี้ยง
-          I   สำหรับแบบมีรอยย้ำ
-          สำหรับแบบมีบั้ง
-          สำหรับแบบหยัก
3.                เส้นผ่านศูนย์กลางระบุ
4.                ความทนแรงดึงระบุ
5.                ประเภทความผ่อนคลาย  ดังนี้
-          Relax 1  สำหรับประเภทความผ่อนคลายธรรมดา (Normal Relaxation)
-          Relax 2  สำหรับประเภทความผ่อนคลายต่ำ  (Low Relaxation)
6.                น้ำหนักสุทธิของขด  เป็นกิโลกรัม
7.                หมายเลขของขด
8.                ชื่อผู้ทำหรือโรงงานที่ทำ หรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน
ตัวอย่าง PC WIRE – SI – 7 -1570 – Relax 1  หมายถึง ลวดกลมชนิดคลายความเค้นแบบมีรอยย้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางระบุ 7 มิลลิเมตร ความทนแรงดึงระบุ 1 570 นิวตันต่อตารางเมตรประเภทความผ่อนคลายธรรมดา



          ก็จบกันไปสำหรับ 4 คำถามที่ส่วนใหญ่สงสัยกันในเรื่องของลวดเหล็ก PC Wire หลายคนคงพอได้ความรู้ไปบ้าง ก่อนที่จะไปพบกับลวดเหล็กอีกชนิดหนึ่งนั้น หน้ากระดาษของผมก็หมดพอดี ผมจึงขออนุญาตให้ได้ติดตามกันต่อในตอนหน้ากับ What is …PC ? [Steel Wires Strands for Prestressed Concrete : PC Strand] แล้วพบกันใหม่ สวัสดีครับ







ระพีพัฒน์
ภาพประกอบ   SIW, RWI, BSW, TWP
ข้อมูลประกอบ 
 SIW, RWI, BSW, TWP
ข้อมูลอ้างอิง   มอก. 95-2540 





















วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555

อัดยาง กับอัดสัก ผมเลยเสี่ยงที่จะโดนอัด



สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่น่ารัก ห่างหายไปนานสำหรับการมาเขียนเล่าถึงวัสดุก่อสร้างแต่ละชนิด ที่ผมมาวันนี้ก็เพราะว่าช่วงที่ผ่านมานั้นมีบริษัทอยู่หลายบริษัทเลยทีเดียวที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปีที่ผ่านมา ที่เค้าได้ช่วยเหลือประชาชนโดยการบริจาคประตูให้สำหรับผู้ประสบอุทกภัย ก็เลยเป็นไอเดียว่าครั้งนี้ผมจะมาพูดถึงเรื่องของประตูครับ ที่จริงแล้วก่อนจะมาเป็นบทความนี้ผมได้เขียนไว้อีกเรื่องหนึ่ง แต่เนื่องจากเรื่องที่ผมเขียนค้างไว้นั้นเป็นเรื่องที่ยากเย็นในการทำความเข้าใจ ผมเลยถึงทางตันครับ แหะ ๆ ๆ ผมก็กลัวว่าท่านผู้อ่านจะคิดถึงผมซะก่อนเลยเข็นเรื่องนี้มาให้ท่านผู้อ่านได้อ่านไปพลาง ๆ ให้หายคิดถึงก่อนครับ ที่ผมจะมาพูดถึงวันนี้คือบานประตูไม้อัดครับ เพื่อที่ท่านผู้อ่านที่น่ารักจะได้นำไปเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อประตูไม้อัดมาประดับบ้านกัน


บานประตูไม้อัด เป็นบานประตูแผ่นไม้ประกอบเรียกตามมาตรฐานอุตสาหกรรม 192-2549 โดยระบุนิยามของบานตูไว้ว่า “บานประตู” หมายถึง บานประตูที่มีกรอบเป็นไม้ มีไม้หรือวัสดุที่ทำจากไม้เป็นไส้และมีแผ่นไม้ประกบเต็ม 2 ด้าน อาจมีช่องสำหรับติดกระจกหรือมีช่องระบายลมอยู่ด้วยก็ได้ สำหรับบานประตูไม้อัดแบ่งเป็นไม้อัดยางกับไม้อัดสัก และทั้ง 2 แบบก็แบ่งประเภทการใช้งานเป็น ภายนอกกับภายในครับ

ประเภทการใช้งานภายนอก คือ สำหรับใช้ภายนอกอาคาร หรือใช้ในที่ซึ่งถูกน้ำหรือละอองน้ำ หรือพูดง่าย ๆ คือกันน้ำนั่นเอง

ประเภทการใช้งานภายใน คือ เหมาะสำหรับใช้ภายในอาคาร หรือใช้ในที่ซึ่งไม่ถูกน้ำหรือละอองน้ำ (แต่จากที่เกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา จะกันน้ำหรือไม่กันน้ำ ผมเห็นว่าไม่มีบานไหนรอดนะครับบางพื้นที่ชั้น 2 ก็ยังไม่รอด) มาถึงขนาดตามมาตรฐานของบานประตูไม้อัดกันบ้างครับ โดยขนาดตามมาตรฐานก็มีดังนี้

600x1800x35 มิลลิเมตร 600x2000x35 มิลลิเมตร
700x1800x35 มิลลิเมตร 700x2000x35 มิลลิเมตร
800x1800x35 มิลลิเมตร 800x2000x35 มิลลิเมตร
900x1800x35 มิลลิเมตร 900x2000x35 มิลลิเมตร

จากมาตรฐานอุตสาหกรรมที่ระบุว่าบานประตูไม้อัดเป็นบานประตูแผ่นไม้ประกอบ เนื่องด้วยประตูที่ว่านี้ไม่ใช่การนำไม้อัดมาอัดขึ้นรูปตามที่ผมได้เคยเข้าใจตั้งแต่ต้น ที่จริงแล้วประตูแผ่นไม้ประกอบ ประกอบไปด้วยไม้ประกอบแต่ละส่วนมาประกอบกันจนเป็นประตูครับ โดยส่วนประกอบของมันนั้นประกอบไปด้วย (รายละเอียดตาม มอก.)

ไม้กรอบและไม้เสริม : ทำจากไม้แปรรูปเนื้อแข็งปานกลาง ประเภทหน้าเล็ก ความชื้นไม้เกิน 15%

ไม้กรอบข้าง : ไม้ที่ใช้ในการผลิตมีความกว้างไม่น้อยกว่า 30 มิลลิเมตร

ไม้กรอบบนและไม้กรอบล่าง : ไม้ที่ใช้ในการผลิตมีความกว้างไม่น้อยกว่า 30 มิลลิเมตร

ไม้เสริมข้าง : ไม้ที่ใช้ในการผลิตมีความกว้างรวมกับไม้กรอบข้างไม้น้อยกว่า 90 มิลลิเมตร และมีความยาวไม่น้อยกว่า 400 มิลลิเมตร หากไม้เสริมข้างประกอบจากไม้คนละชิ้นต้องต่อเป็นชิ้นเดียวกัน

ไม้เสริมมุม : ไม้ที่ใช้ในการผลิตมีความกว้างรวมกับไม้กรอบบนหรือไม้กรอบล่างหรือไม้กรอบข้างแล้วแต่กรณีไม่น้อยกว่า 55 มิลลิเมตร และมีความยาวไม่น้อยกว่า 400 มิลลิเมตร หากไม้เสริมข้างประกอบจากไม้คนละชิ้นต้องต่อเป็นชิ้นเดียวกัน

แผ่นหน้าไม้ : แผ่นไม้อัด, แผ่นใยไม้อัดแข็ง, แผ่นชิ้นไม้อัด, และแผ่นใยไม้อัดแข็งความหนาแน่นปานกลาง

ไส้ : ชนิดภายใน ต้องทำจากไม้แผ่นไม้อัด แผ่นชิ้นไม้อัด, กระดาษรังผึ้งหรือวัสดุอื่นที่ทำจากไม้ และความหนาของไส้ไม้ต้องเท่าความหนาของไม้กรอบ

: ชนิดภายนอก ต้องทำจากไม้หรือแผ่นไม้อัดประเภทใช้งานภายนอก และความหนาของไส้ไม้ต้องเท่าความหนาของไม้กรอบ

กาว : ประตูชนิดภายในใช้กาวยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์

: ประตูชนิดภายนอกใช้กาวเมลามีนฟอร์มาลดีไฮด์ ซึ่งมีคุณสมบัติกันความชื้น



ก็ผ่านกันไปสำหรับส่วนประกอบของบานประตูไม้อัดนะครับ ทุกคนคงเห็นกันแล้วว่าที่จริงแล้วประตูไม้อัดนั้น ไม่ได้อัดขึ้นรูปมาตามที่ผมเองเคยเข้าใจ เพียงแต่เป็นการประกอบกันจนเป็นประตู และผมจะทิ้งท้ายอีกอย่างหนึ่งว่าประตูทุกชนิดนั้น ไม่ว่าจะเป็นประตูพีวีซีหรือประตูไม้จริง ด้านในหรือไส้จะกลวงครับ เหตุก็คงจะเป็นเพราะถ้าหากด้านในเป็นไม้ทั้งแผ่นจริง ๆ อย่างประตูไม้จริงนั้นบานประตูก็จะมีน้ำหนักมาก เวลาเปิดปิดทีคงต้องมีล้อติดเอาไว้ด้านล่างเพื่อให้ง่ายต่อการเปิดปิดอย่างแน่นอนครับ จุดสังเกตอีกอย่างว่าประตูมันกลวงคือการเคาะครับ เพราะเคาะประตูกี่ครั้ง ๆ ก็จะมีเสียงดังก้อง ๆ นั่นก็เพราะด้านในมันกลวงครับ เพราะว่าถ้าหากไม่กลวงเสียงมันก็จะไม่ดัง เคาะให้ตายคนด้านในก็ไม่มีทางได้ยินหรอกครับ ส่วนใครที่สงสัยว่าชื่อเรื่องที่ผมจะโดนอัดนั้นก็เป็นเพราะว่า ผมห่างหายกับท่านผู้อ่านมานานเหลือเกิน จนมีเสียงกดดันแล้วว่าเมื่อไหร่ผมจะกลับมาสักที เพราะถ้าหากไม่ยอมกลับมาหรือทิ้งไว้นานเกินไประวังจะโดนอัด แล้วพบกันใหม่สวัสดีครับ



ระพีพัฒน์

ข้อมูลประกอบ เมโทรพาเนล, Wattana Wood
ข้อมูลอ้างอิง มอก. 192-2549
ภาพประกอบ เมโทรพาเนล, Internet, Porte

www.ebuild.co.th

 

สถิติ