วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ท่อ 3 สหาย “เพื่อนกัน แต่ทำแทนกันไม่ได้”


ท่อ 3 สหาย  “เพื่อนกัน แต่ทำแทนกันไม่ได้”

                    สวัสดีครับญาติสนิทมิตรสหายทั้งหลาย  วันนี้ผมอาจจะดูแปลก ๆ ไปบ้างก็อย่าว่ากันเลยนะครับ เห็นชื่อเรื่องแล้วทำนึกถึงเรื่องเพื่อนในยุคสมัยนี้  คนส่วนใหญ่อยู่ไม่ได้ในโลกใบนี้หากขาดคำว่าเพื่อนไป อาจถึงขั้นจิตตก วิตกกังวล จนลามไปถึงขั้นฆ่าตัวตายเลยก็ได้  ผมไม่ได้จะบอกว่าเพื่อนนั้นไม่มีความสำคัญหรือไม่จำเป็น ผมเพียงจะมาบอกว่าเพื่อนนั้นก็คงเป็นได้แค่เพื่อน(แต่ก็อาจมีบางคนที่คิดกับเพื่อนไปมากกกว่าเพื่อน) หากรักเพื่อนก็ควรรักให้ถูก ไม่ใช่ชวนกันไปทำอะไรที่มันไม่ดี เพราะอย่างที่บอกไปแต่แรกครับ ว่าเพื่อนก็คือเพื่อน เช้าตื่นขึ้นมาก็คือเพื่อน เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ อย่าเอาชีวิตไปผูกกับเพื่อน(ที่ไม่ดี)เพียงคน ๆ เดียว เพราะชีวิตคนเรานั้นมีทั้งสังคมคนรอบข้างและครอบครัว อย่างหลังนี่แหละครับที่ผมจะบอกว่ามันสำคัญที่สุดในชีวิต สายสัมพันธ์แห่งสายเลือดย่อมตัดกันไม่ขาด ที่ผมอยากจะบอกก็มีเพียงเท่านี้แหละครับ  นอกเรื่องมาก็หลายบรรทัดแล้วผมว่าเราเข้าเรื่องก่อสร้างของเราดีกว่า
                    ท่อ 3 สหาย เพื่อนกัน  แต่ทำแทนกันไม่ได้ก็ตั้งชื่อเรื่องมาตั้งขนาดนี้ผมก็ต้องมาพูดถึงท่ออย่างแน่นอนครับ แต่ที่ผมจะมาพูดในวันนี้เป็นท่อเพียงชนิดเดียวเท่านั้นครับ  พออ่านถึงตรงนี้หลายคนคงเกิดอาการหมั่นไส้ปนสงสัยว่าไอ้นี่มันจะเล่นแง่อะไรอีก  ผมบอกได้เลยว่าผมไม่ได้โกหกนะครับ ผมจะพูดเพียงท่อชนิดเดียวจริง ๆ นั่นก็คือ ท่อพีวีซีครับ  แต่ที่มันต้องเป็น 3 สหายก็เพราะว่า มันมี 3 สี หลาย ๆ คนคงรู้จักกับคำว่า ท่อพีวีซีอย่างแน่นอน ตรงนี้ผมขอฟันธง ซึ่งท่อประเภทนี้วัสดุสำคัญในการผลิตออกมาเป็นท่อก็คือพีวีซี ชื่อเสียงเรียงนามของเจ้านี่นั้นก็คือ  โพลิไวนิลคลอไรด์ หรือ Polyvinyl chloride หรือเรียกโดยย่อคือ PVC  เอาละครับก่อนที่เราจะไปลงลึกกันเรื่องท่อพีวีซี ผมก็ขอให้ทุกท่านได้ไปทำความรู้จักกับพีวีซีกันก่อน ว่ากำเนิดเกิดขึ้นมาบนโลกได้อย่างไร


                    ประวัติการกำเนิดเกิดขึ้นมาของพีวีซีบนโลกนั้น  เริ่มต้นตั้งแต่มีชายผู้หนึ่งที่พยายามคิดค้นสารชนิดใหม่ขึ้นจนเป็นเหตุให้ค้นพบสารสังเคราะห์นี้โดยบังเอิญ  แต่การค้นพบก็ไม่สามารถสังเคราะห์ออกมาในเชิงพาณิชย์ได้แต่อย่างใด  ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 19  มีนักวิจัยสามารถสังเคราะห์พีวีซีขึ้นมาได้  โดยครั้งแรกได้เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1835 นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศสชื่อ  Henri Victor Regnault และในปี ค.ศ. 1872  โดยชาวเยอรมันชื่อ  Eugen  Baumann ซึ่งการค้นพบของทั้งสองครั้งเป็นการค้นพบโพลิเมอร์ลักษณะเป็นของแข็งสีขาวอยู่ในขวดทดลองพร้อมกับแก๊สไวนิลคลอไรด์ที่ระเหยออกมา  และก็อีกเช่นเดิมที่ส่วนประกอบนี้ยังไม่มีใครสามารถผลิตออกมาในเชิงพานิชย์ได้
                   ต่อมาในปี  ค.ศ. 1913  นักลงทุนชื่อ  Friedrich Heinrich August Klatte ได้จดลิขสิทธิ์ พีวีซี  โดยหลักการผลิตของเขาคือการสังเคราะห์ด้วยแสงแดด  ต่อมาอีกได้มีการปฏิวัติการผลิตพีวีซี ในประเทศอเมริกาเมื่อบริษัท  BF Goodrich จ้างนักวิทยาศาสตร์ ชื่อ Waldo Semon  เพื่อพัฒนาสารที่สามารถนำมาทดแทนยางที่มีราคาสูงขึ้น  จากการทดลองสามารถผลิต พีวีซี  ได้แต่ก็ต้องหยุดชะงักลงเนื่องจากสภาวะทดถอยทางเศรฐกิจในปี 1920
                   ยอดขายของพีวีซี เริ่มถีบตัวสูงขึ้นเพราะมีการนำพีวีซีไปใช้ผลิตสินค้าได้หลากหลายมากขึ้นและความต้องการของพีวีซี ก็สูงขึ้นอีกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  เมื่อพีวีซี สามารถนำมาทดแทนสายไฟที่ใช้ในการเดินสายไฟในเรือรบได้  ในช่วงปี 1950  หลายบริษัททั่วโลกเริ่มผลิตพีวีซีได้ในปริมาณมากขึ้น  นักพัฒนาได้คิดค้นวิธีการนำพีวีซีไปใช้ในวงการอุตสาหกรรมและพัฒนาพีวีซีให้มีคุณสมบัติที่มีความทนทานมากขึ้น
                     ในช่วงกลางศตวรรษที่  20  พีวีซีที่เป็นลักษณะของเหลวเหนียวหนืด ถูกพัฒนาให้มีคุณสมบัติที่ดียิ่งขึ้น  สามารถนำไปใช้ในการเคลือบเนื้อผ้า  อุปกรณ์ก่อสร้าง  ด้วยคุณสมบัติที่ทนต่อแสงแดดสารเคมี  และการกัดกร่อน ทำให้พีวีซีเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการก่อสร้าง  ปัจจุบัน พีวีซี ได้พัฒนาให้ทนความร้อนได้สูงมาก พีวีซีจึงเป็นที่นิยมนำมาใช้ในวงการอุตสาหกรรม การก่อสร้างในงานระบบประปาเช่นที่ผมจะพูดถึงเรื่องของท่อ 3 สหายนั่นเอง


                    ท่อ PVC คือ ท่อที่ทำขึ้นจากโพลิไวนิลคลอไรด์ โดยไม่ผสมพลาสติกไซเซอร์ ซึ่งชื่ออย่างเป็นทางการที่ได้ระบุใน มอก. คือ ท่อพีวีซีแข็ง แต่คนทั่วไปนั้นจะรู้จักมักคุ้นกันในชื่อท่อ PVC กันมากกว่า  โดยในปัจจุบันท่อชนิดนี้เป็นที่นิยมอย่างมากในวงการก่อสร้าง  เพราะด้วยคุณสมบัติที่ดีหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น คุณสมบัติที่มีความเหนียวยืดหยุ่นตัวได้ดี  ทนต่อแรงดันน้ำ  ทนต่อการกัดกร่อน  ไม่เป็นฉนวนนำไฟฟ้าเพราะไม่เป็นตัวนำไฟฟ้า  เป็นวัสดุไม่ติดไฟ  น้ำหนักเบาอีกทั้งยังราคาถูกอีกด้วย  ท่อ PVC จึงถูกนำมาใช้ในงานหลาย ๆ ระบบ อาทิเช่น  ระบบประปา  ระบบงานร้อยสายไฟฟ้า  ระบบงานระบายน้ำทางการเกษตร/อุตสาหกรรม  เพื่อน ๆ พี่ ๆ สังเกตอะไรกันบ้างไหมครับว่าผมได้พูดถึงเรื่องระบบเพียง 3 ระบบ ซึ่งก็ตรงกับจำนวนสหายของเราที่มีกัน 3 สหาย เอาเป็นว่าผมบอกเลยดีกว่าว่า 3 สหายของเรามีสีใดกันบ้างตามที่ผมเคยเกริ่นนำไปตั้งแต่ต้น ซึ่ง 3 สหายของเราก็ได้แก่ สีฟ้า สีเหลือง และสีเทา เห็นไหมครับว่าตรงแป๊ะเหมือนหวยล็อค....เอาเป็นว่าผมขอไปแนะนำ 3 สหายของเรากันดีกว่า ก่อนที่ผมจะต้องให้ท่านผู้อ่านส่งข้าวส่งน้ำให้

 ท่อพีวีซี  สีฟ้า

                   ท่อพีวีซีสีฟ้า หรือ ท่อพีวีซีแข็งสำหรับใช้เป็นท่อน้ำดื่ม  ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. 17-2532   ท่อชนิดนี้เป็นที่นิยมใช้งานประปาสุขาภิบาลภายในอาคาร เช่น ใช้เป็นท่อน้ำประปา หรือใช้กับปั๊มน้ำ  ซึ่งท่อประเภทนี้เป็นเพียงประเภทเดียวใน 3 สหายของเราที่มีการระบุมาตรฐานความดันหรือชั้นคุณภาพ  อันได้แก่  PVC 5, PVC 8.5, PVC 13.5 ซึ่งตัวเลขที่ได้ระบุคือค่าความดันระบุและค่าความดันระบุหมายถึง ความดันที่กำหนดให้สำหรับใช้งาน ณ อุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส โดยในมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้อธิบายไว้ว่า ชั้นคุณภาพคือ ความดันระบุที่มีหน่วยเป็นเมกะพาสคัล ตามตารางที่ผมยกมาให้ได้ดูเลยครับ
                    จากที่มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมได้อธิบายไว้ข้างต้นในเรื่องของชั้นคุณภาพ  เพื่อน ๆ ท่านผู้อ่านคิดเห็นเหมือนผมไหมครับว่าทั้งงงและสับสนเป็นอย่างมาก ในเรื่องหน่วยที่เป็นเมกะพาสคัล ซึ่งจากที่ผมได้ร่ำเรียนมาในสายบริหารธุรกิจก็ไม่เคยพบเคยเห็นว่าจะมีอยู่ในหนังสือเล่มไหน ซึ่งผมก็คาดว่าคงอยู่ในเล่มพวกวิศวกรรมทั้งหลายอย่างแน่นอน  เอาเป็นว่าเราปล่อยให้มันเป็นเรื่องของทางวิศวกรรมดีกว่า  แต่ในเรื่องตัวเลขที่เห็นนี้ผมก็ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใดว่าเลข 5  8  13.5  มันจะมีความหมายอื่นหรือไม่ ผมได้คำตอบแล้วครับ  เลขที่เราเห็นเป็น  5  8.5  13.5  เป็นการระบุถึงความสามารถในการรับแรงกดดันได้ของท่อ  มีหน่วยเป็นกิโลกรัม/ตารางเซนติเมตร ซึ่งผมว่าอันนี้น่าจะเข้าใจได้ง่ายกว่า  เรื่องสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงสหายคนนี้คือ ท่อพีวีซีสีฟ้าที่เป็นที่นิยมใช้งานภายในอาคารนั้นก็เพราะว่าท่อชนิดนี้ไม่ทนต่อแสงแดดครับ  เพราะการที่สัมผัสกับแสงแดดโดยตรงนั้นจะทำให้ท่อเสื่อมคุณภาพและแตกหักได้ง่าย  และเหตุที่ว่าทำไมท่อพีวีซีที่ใช้งานประปาถึงต้องเป็นสีฟ้านั้น  ผมก็คิดเอาว่าสีฟ้าคงมีความหมายว่าเป็นสีที่สะอาดสดใสมันจึงเหมาะที่จะนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนว่าท่อชนิดนี้เหมาะที่จะใช้ในงานประปาสำหรับเป็นท่อน้ำดื่มนั่นเอง


ท่อพีวีซี สีเหลือง


                      ท่อพีวีซีสีเหลือง  หรือท่อพีวีซีแข็งสำหรับร้อยสายไฟฟ้าและสายโทรศัพท์  ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก.216-2524  ท่อพีวีซีนั้นคนส่วนใหญ่มักจะรู้จักแต่ท่อพีวีซีสีฟ้าเป็นส่วนมาก  พอเห็นว่าท่อพีวีซีมีสีเหลืองหรือสีอื่น ๆ ก็มักคิดไปเองว่าเอาไปใช้งานเหมือนกัน  สำหรับเรื่องการใช้งานที่จะสามารถใช้งานร่วมกันหรือแทนกันได้นั้นผมขอเอาไว้เป็นอย่างหลังแล้วกันครับ  ท่อพีวีซีสีเหลืองนั้นเป็นท่อที่ผลิตขึ้นมาใช้เพื่อร้อยสายไฟหรือสายโทรศัพท์ภายในอาคารโดยเฉพาะ  มีคุณสมบัติเป็นฉนวนไฟฟ้า จึงไม่นำไฟฟ้าเมื่อเกิดไฟรั่ว  มีคุณสมบัติไม่เป็นสนิม(ที่มันไม่เป็นสนิมก็เพราะว่ามันไม่ใช่เหล็ก)  มีคุณสมบัติไม่ลามไฟ แล้วในบางบริษัทก็ผลิตขึ้นมาเพื่อให้ทนทานต่อแสงแดดบางคนจึงเกิดคำถามว่าเอาไปใช้งานเดินสายไฟฟ้าภายนอกอาคารได้ไหม  ผมขอบอกไว้ตรงนี้เลยนะครับว่าไม่ได้เพราะทางการไฟฟ้าไม่อนุญาตให้ใช้ท่อพีวีซีสีเหลืองไปร้อยสายไฟฟ้าภายนอกอาคารครับ


ท่อพีวีซี  สีเทา


                    ท่อพีวีซีสีเทา  หรือท่อพีวีซีแข็งสำหรับใช้ในงานอุตสาหกรรม  ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. 999-2533  ท่อชนิดนี้ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในงานการเกษตรหรืองานระบายน้ำทิ้งโดยเฉพาะ  เหมาะกับงานที่ไม่ต้องใช้แรงดันของท่อมากนัก  แต่ท่อประเภทนี้ทาง สมอ. หรือสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม  ยังไม่ได้กำหนดเป็นกฏเกณฑ์ตายตัวว่าต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่มี  มอก. 999-2533 สำหรับในงานระบายน้ำทิ้งหรืองานด้านการเกษตร  แต่ถ้าหากจะนำไปใช้ในงานด้านอุตสาหกรรมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ท่อพีวีซีสีเทาที่มี  มอก. 999-2533  เพราะทาง สมอ. จำเป็นต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม เพราะการระบายน้ำทิ้งในงานอุตสาหกรรมอาจมีสารพิษหรือสารเคมีเจือปน ระบายออกมาด้วย


                    ท่อพีวีซีสีฟ้า สีเหลือง สีเทา หรือก็คือท่อพีวีซีแข็งที่สำหรับนำไปใช้ในงานต่าง ๆ ที่แตกต่างกันออกไป  ท่อ 3 สหาย “เพื่อนกันแต่ทำแทนกันไม่ได้” ที่เป็นชื่อเรื่องของเราในวันนี้มันคือข้อสรุปของผมเอง ว่าท่อทั้ง 3 สีนี้ใช้งานแทนกันได้ไหม  ผมก็ขอสรุปว่าทั้งที่เป็นท่อพีวีซีแข็งเหมือนกันแต่ก็ไม่สามารถใช้งานแทนกันได้ครับ เหตุที่ไม่สามารถแทนกันได้ก็เป็นเพราะว่าท่อแต่ละสีนั้นถูกผลิตขึ้นมาให้ใช้ในงานที่แตกต่างกันออกไป ผลิตขึ้นมาเพื่อให้เหมาะกับงานนั้น ๆ อย่างเช่นสีฟ้าที่เหมาะกับระบบประปา/น้ำดื่ม ที่ต้องใช้แรงดันสูง สีเหลืองเหมาะกับงานร้อยสายไฟฟ้า สีเทาเหมาะกับงานระบายน้ำทางเกษตรหรืออุตสาหกรรม  ผมอยากให้ท่านผู้อ่านลองนึกภาพตามผมนะครับว่าเวลาเราวางระบบท่อภายในผนังหรือภายในอาคาร ผมไม่แน่ใจว่าเค้าจะวางระบบทั้ง 3 นี้ไปด้วยกันหรือไม่ เพราะถ้าหากว่าวางระบบไปด้วยกันแล้ว สีของท่อแต่ละชนิดมันจะเป็นตัวบ่งบอกได้ดีว่าท่อนี้ใช้ทำอะไร หากว่าเราดึงดันเอาท่อที่ว่านี้ไปแทนกัน เอาสีเหลืองไปแทนสีฟ้า หรือเอาสีฟ้าไปแทนสีเทา เวลาเราจะซ่อมแซมมันจะเกิดเรื่องยุ่งยากตามมามากมาย คุณอาจจะซ่อมผิดซ่อมถูก ทีนี้ละผมว่าเราคงได้รื้อระบบกันให้วุ่นวายอย่างแน่นอน  เค้าได้ผลิตท่อออกมาโดยใช้สีเพื่อแทนการใช้งานแต่ละประเภทแล้ว และก็เป็นมาตรฐานเดียวกันด้วย ผมว่าเราอย่าไปดื้อดึงหรืออย่าไปฝืนเลยครับ ด้วยความปรารถนาดีจากนายระพีพัฒน์  แล้วพบกันใหม่ครั้งหน้า สวัสดีครับ




ระพีพัฒน์
ข้อมูลอ้างอิง   นายธัชชัย  หนูสวัสดิ์  สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ)
                        ประวัติพีวีซี (kitiwatana.com)
ภาพประกอบ  Internet (pp2003.co.th)
                         Wikipedia















วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2555


What is …PC ? [Steel Wires Strands for Prestressed Concrete : PC Strand]
PC คืออะไร [ลวดเหล็กกล้าตีเกลียวสำหรับคอนกรีตอัดแรง]

                    สวัสดีครับกับตอนที่ต่อมาจาก PC Wire คราวนี้ผมไม่ได้กลับมาเพียงหนึ่งเดียวครับ แต่ผมกลับมาพร้อมกับการพันเกลียว  เอาเป็นว่า ผมจะพูดถึง PC Strand นั่นแหละครับ คิด ๆ ดูแล้วผมอยากให้คนไทยเป็นเหมือน PC Strand จริง ๆ รักใคร่กันอย่างกลมเกลียว  เยิ่นเย้อมาเยอะแล้วครับ ผมว่าเราไปเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า

PC  Strand ชื่อเต็ม Steel Wire Strands for Prestressed Concrete
                    ลวดเหล็กกล้าตีเกลียวสำหรับคอนกรีตอัดแรงนี้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากลวดเหล็กคาร์บอนสูงตั้งแต่ 2 เส้นขึ้นไปตีเกลียวเข้าด้วยกัน ให้มีระยะช่วงเกลียวสม่ำเสมอและผ่านขบวนการคลายความเค้นก่อนม้วนเป็นขด โดยลวดเหล็กกล้าตีเกลียวจะมีมาตรฐานเลขที่ มอก. 420-2540 กำกับอยู่ ซึ่งเป็นการปรับปรุงจากฉบับเดิมเลขที่ มอก. 420-2534  และมาตรฐานของ มอก.420-2540 นี้จะครอบคลุมลวดเหล็กกล้าตีเกลียวทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นลวดเหล็กกล้าตีเกลียวสำหรับคอนกรีตอัดแรงชนิด 2 เส้น, ชนิด 3 เส้น, ชนิด 7 เส้น และชนิด 19 เส้น  และคราวนี้ผมก็แบ่งมาให้ท่านผู้อ่านดูเป็นข้อ ๆ อีกเช่นเดิมครับ ได้แก่
          
                    1.   เกรดที่ระบุในสเป็คสินค้ามีผลอย่างไรกับการนำไปใช้งาน
             2.  Low Relaxation กับ Normal Relaxation คืออะไรและมีผลอย่างไร
             3. ลวดตีเกลียวต่างจำนวนเส้นกัน แต่ละแบบเป็นอย่างไร
             4. เครื่องหมายและฉลากในลวดเหล็กตีเกลียวเป็นอย่างไรแล้วอ่านอย่างไร
                              แล้วก็เป็นเช่นเดิมครับที่ผมจะแนะนำให้ท่านผู้อ่านที่สนใจเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งใน 4 ข้อนี้ ก็ขอให้ท่านผู้อ่านข้ามไปอ่านยังหัวข้อที่ท่านสนใจได้เลยครับ ผมการันตีว่าไม่งงอย่างแน่นอนไปเริ่มกันเลยครับ


 1.  เกรดที่ระบุในสเป็คสินค้ามีผลอย่างไรกับการนำไปใช้งาน


                            ก่อนที่เรานั้นจะไปฟันธงแบบหมอลักษณ์ ผมก็ขออธิบายของเกรดในแต่ละตัวของเหล็กตีเกลียวแต่ละขนาดมาให้ท่านผู้อ่านได้ศึกษากันครับ  เท่าที่ผมพบเห็นส่วนใหญ่แล้วลวดเหล็กชนิดนี้มักมีขายตามท้องตลาดแค่ตัว หรือ สองตัวเท่านั้น ส่วนใหญ่ก็จะมีแต่เหล็กตีเกลียวแบบ 7 เส้น เกรดที่ระบุในเหล็กตีเกลียวจึงมีไม่มากตามไปด้วย และจากที่ผมหาข้อมูลมาผมไม่สามารถหาได้เลยว่า บริษัทใดมีเหล็กตีเกลียวแบบ 19 เส้น เอาเป็นว่าผมขออ้างอิงจากมาตรฐานอุตสาหกรรมเป็นหลักแล้วกันครับ เราไปเริ่มกันดีกว่า

                         เหล็กตีเกลียวแบบ 2 เส้น จะมีเพียงขนาดเดียวนั่นคือเส้นผ่านศูนย์กลางที่ 5.8 และมีเกรดเพียงค่าเดียวนั่นคือ 1 910 นิวตันต่อตารางมิลลิเมตรครับ
                        เหล็กตีเกลียวแบบ 3 เส้น จะมีอยู่ 4 เกรดครับ ได้แก่ 1 770 มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ 5.2 กับ 7.5  เกรด 1 860 เส้นผ่านศูนย์กลางที่ 7.5  เกรด 1 910 มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ 6.2  และสุดท้ายเกรด 1 960 จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ 5.2 ครับ
                        เหล็กตีเกลียวแบบ 7 เส้น ในที่นี้ผมขอพูดถึงเฉพาะแบบธรรมดานะครับ เพราะในแบบอัดแน่นนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วไม่ผลิตหรือไม่มีในท้องตลาดนั่นเอง  เหล็กตีเกลียวแบบ 7 เส้นเป็นเหล็กตีเกลียวที่นิยมมากที่สุดในท้องตลาด  โดยเกรดจะมีอยู่เพียง 2 เกรดคือ  1 720  กับ  1 860  โดยถ้าหากเป็น 1 720 จะมีเหล็กที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ 9.3  10.8  12.4  และ 15.2  ส่วนเกรด 1 860  จะมีเหล็กที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ 9.5  11.1  12.7  และ 15.2  โดยหากสังเกตให้ดีจะพบว่า  ในขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ 15.2  จะมีเกรดที่ระบุอยู่ทั้ง 2 เกรดครับ
                        เหล็กตีเกลียวแบบ 19 เส้น  จะมีเกรดเพียง 2 เกรดเช่นเดียวกับเหล็กตีเกลียวแบบ 7 เส้นครับ แต่เกรดที่ระบุจะเหมือนกันแค่เพียง 1 860 เท่านั้นนะครับ เพราะเกรดที่ระบุอีกตัวนั้นเป็น 1 810  โดยเกรดที่ระบุ 1 860 จะมีเหล็กตีเกลียวที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ 17.8 กับ 19.3 ครับ  และเกรดที่ระบุ 1 810  จะมีเหล็กตีเกลียวที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง  20.3 กับ 21.8 ครับ  และเช่นเคยผมก็มีภาพตาราง Specification มาให้ชมว่าเกรดที่ระบุในเหล็กตีเกลียวนั้นสามารถชมได้จากส่วนไหนของตาราง


                      และเช่นเดิมผมก็ขอยกข้อสรุปจากลวดเหล็กมาเลยแล้วกันว่าจากรูปตัวอย่างที่ผมมาให้ได้ชม เกรดนั้นจะระบุอยู่ใน ตาราง Specification ในทุก ๆ บริษัทครับ โดยเมื่อเรามองแบบผิวเผินแล้ว ทุกคนคงคิดว่าไม่มีอะไรที่เห็นว่าแตกต่างกันตรงไหน แต่ถ้าหากมองให้ลึกลงไปแล้วก็จะพบความแตกต่างกันครับ หากจะให้อธิบายนั้นก็คงเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน ผมขอสรุปเช่นเดิมอีกว่า เกรดที่แตกต่างกันนั้น มันเป็นค่าการทนแรงดึงระบุเป็น นิวตันต่อตารางมิลลิเมตร โดยคำนวณจากพื้นที่หน้าตัดที่ระบุกับค่าลักษณะ เฉพาะแรงดึงสูงสุดโดยปัดเศษถึง 10 นิวตันต่อตารางมิลลิเมตรที่ใกล้เคียงที่สุด และสำหรับค่าที่เห็นเป็น 1 860 นั้นก็เป็นผลมาจากการทดสอบความผ่อนคลายที่ 1 000 ชั่วโมงครับ


 2.   Low Relaxation กับ Normal Relaxation คืออะไร และมีผลอย่างไร

                      อย่างที่ผมเคยได้สรุปไว้กับตอน ลวดเหล็กกล้าสำหรับคอนกรีตอัดแรง หรือ PC Wire ว่าในเรื่องของ Relaxation นั้นจะมีผลในเชิงลึก ซึ่งหากให้อธิบายก็คงอธิบายกันเป็นวัน และวิศวกรก็ได้กล่าวไว้เพิ่มเติมอีกว่าเมื่อผลิต Low Relaxation มาแล้ว จะครอบคลุมตัว Normal Relaxation ไปโดยปริยาย เพราะเหตุนี้ในท้องตลาดส่วนใหญ่จึงนิยมใช้แต่ตัว Low Relaxation และในเรื่องราคานั้นตัว Low Relaxation จะมีราคาที่ถูกกว่าตัว Normal Relaxation อีกด้วย ของถูกใคร ๆ ก็ชอบใช่ไหมละครับ  ก่อนที่เราจะไปดูว่า  Relaxation นั้นอยู่ส่วนใดของตาราง Specification ผมขออธิบายย้ำกับความหมายของ Relaxation กันอีกทีครับ

                             “Relaxation” หรือ ความผ่อนคลาย หมายถึง ความเสื่อมสูญแรงดึงตามระยะเวลาของลวดตีเกลียว  ที่มีความยาวคงที่คิดเป็นร้อยละของแรงดึงเริ่มแรกที่ใช้กับลวดตีเกลียว








3.  ลวดตีเกลียวที่ต่างจำนวนเส้นกันหน้าตาเป็นอย่างไร

                            ลวดเหล็กกล้าตีเกลียวสำหรับคอนกรีตอัดแรงนั้นโดยส่วนใหญ่ในท้องตลาดจะนิยมเหล็กตีเกลียวแบบ  7  เส้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เหล็กมีการตีเกลียวกันหลายแบบครับ อย่างที่ผมเกริ่นนำไปตั้งแต่ต้น จะมีอยู่ 4 แบบคือ   เหล็กตีเกลียว 2 เส้น  3  เส้น  7 เส้น  และ 19 เส้น  ในลักษณะการตีเกลียวของแต่ละแบบก็แตกต่างกันออกไป  ผมว่าเราควรไปเรียนรู้กันดีกว่าว่าเหล็กตีเกลียวแต่ละแบบมันเป็นอย่างไร


ลวดเหล็กกล้าตีเกลียวชนิด  2  เส้น สำหรับคอนกรีตอัดแรง หมายถึง  ลวดตีเกลียวซึ่งประกอบด้วยลวด 2 เส้นที่มีขนาดระบุเดียวกัน ตีเกลียวรอบแนวแกนร่วม มีระยะช่วงเกลียวระหว่าง 12 ถึง 22 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางระบุของลวดตีเกลียว พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือพันกันเองครับ

ลวดเหล็กกล้าตีเกลียวชนิด  3  เส้น สำหรับคอนกรีตอัดแรง หมายถึง  ลวดตีเกลียวซึ่งประกอบด้วยลวด 3 เส้นที่มีขนาดระบุเดียวกัน ตีเกลียวรอบแนวแกนร่วม มีระยะช่วงเกลียวระหว่าง 12 ถึง 22 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางระบุของลวดตีเกลียว  ความหมายเดียวกับลวด 2 เส้นเลยครับ

ลวดเหล็กกล้าตีเกลียวชนิด  7  เส้น สำหรับคอนกรีตอัดแรง หมายถึง  ลวดตีเกลียวซึ่งประกอบไปด้วยเหล็กเส้นแกนซึ่งเส้นผ่านศูนย์กลางต้องใหญ่กว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของลวดที่พันกันอยู่โดยรอบ  ไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 และต้องมีระยะช่วงเกลียวระหว่าง 12 ถึง 18 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางระบุของลวดตีเกลียว


ลวดเหล็กกล้าตีเกลียวชนิด  19  เส้น สำหรับคอนกรีตอัดแรง หมายถึง ลวดตีเกลียวซึ่งประกอบไปด้วยเหล็กเส้นแกน 1 เส้น ชั้นกลาง 9 เส้น ชั้นนอก 9 เส้น หรือแกน 1 เส้น ชั้นกลาง 6 เส้น ชั้นนอก 12 เส้น และต้องมีระยะช่วงเกลียวระหว่าง 12 ถึง 22 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางระบุของลวดตีเกลียว



4.           เครื่องหมายและฉลากในลวดตีเกลียว เป็นอย่างไร แล้วอ่านอย่างไร

                       เช่นเดิมกับในเรื่องของฉลาก เพราะถ้าหากเป็นเหล็กประเภทอื่นจะมีการตีตราลงไปในตัวเหล็ก  แต่สำหรับลวดเหล็กแล้วคงต้องใช้แว่นขยายส่อง แต่เมื่อท่านผู้อ่านได้อ่านถึงตรงนี้คงจะมีความสงสัยว่าลวดตีเกลียวเส้นมันก็ใหญ่ขึ้นมาตั้งเยอะ ทำไมไม่ตีตราลงไปที่เหล็กเลยเพราะอย่างลวด 7 เส้นมีขนาดตั้งแต่  9.3 – 15.2  มม.  ผมก็ขอบอกไว้ตรงนี้เลยว่าท่านผู้อ่านอย่าลืมนะครับเหล็กตีเกลียวมันใหญ่ขึ้นก็จริงแต่เหล็กก่อนจะมาตีเกลียวมันก็ยังเป็นเส้นเล็ก ๆ อยู่ดี  ด้วยเหตุนี้ลวดเหล็กและลวดเหล็กตีเกลียวจึงมีฉลากไว้ให้แสดงคุณสมบัติกันผู้บริโภคถูกหลอกลวงเพราะแม้แต่กะปิน้ำปลาเค้ามีฉลากแสดงอย่างครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นส่วนประกอบ โภชนาการ ก็ยังจะมีกะปิน้ำปลาปลอมกัน (นอกเรื่องอีกแล้ว) และที่ลวดตีเกลียวต้องมีฉลากก็เพราะว่า  ทางมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือ มอก. ได้บังคับให้แสดงฉลากคุณสมบัติมาจากโรงงานที่ผลิตซึ่งประกอบไปด้วยดังนี้ครับ



ที่ลวดตีเกลียวทุกขดต้องมีป้ายผูกติดอยู่  และที่ป้ายนั้นอย่างน้อยต้องมีเลข  อักษรหรือเครื่องหมายแจ้งรายละเอียดต่อไปนี้ให้เห็นได้ง่าย ชัดเจน


1.               ชื่อผลิตภัณฑ์ เป็นภาษาอังกฤษว่า  “ PC STRAND ”
2.               ชนิดและแบบของลวดตีเกลียว
3.               เส้นผ่านศูนย์กลางระบุ
4.               ความทนแรงดึงระบุ
5.               ประเภทความผ่อนคลายดังนี้
       -      Relax 1 สำหรับประเภทความผ่อนคลายธรรมดา
       -      Relax 2  สำหรับประเภทความผ่อนคลายต่ำ
6.               ทิศทางการตีเกลียวลวด
7.               น้ำหนักสุทธิของขด  เป็นกิโลกรัม
8.               หมายเลขของขด
9.               ชื่อผู้ทำหรือโรงงานที่ทำ หรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน
ตัวอย่าง    PC STRAND – 7 Wire  ordinary – 12.7 - 1860 – Relax 2 – right หมายถึง ลวดตีเกลียวชนิด 7 เส้น แบบธรรมดาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางระบุ  12.7  มิลลิเมตร  ความทนแรงดึงระบุ  1860  นิวตันต่อตารางมิลลิเมตร ประเภทความผ่อนคลายต่ำ ทิศทางการตีเกลียวทางขวา

                         ก็จบกันไปสำหรับลวดเหล็กและลวดเหล็กตีเกลียวครับ  กลับมาคราวนี้ผมคิดว่าท่านผู้อ่านคงได้รับความรู้ไปมากทีเดียวเพราะขนาดผมเองที่เขียนบทความนี้ไปและหาข้อมูลประกอบไป ผมก็ยังได้ทราบในหลาย ๆ เรื่องที่ผมเองก็เพิ่งทราบเช่นกัน  สุดท้ายนี้ผมก็หวังว่าคงจะได้พบกับท่านผู้อ่านอีกในเร็ว ๆ นี้ และขอให้ท่านผู้อ่านสุขภาพร่างกายแข็งแรงปราศจากอุปสรรคใด ๆ มาขัดขวางนะครับ ด้วยความหวังดีจากผม นายระพีพัฒน์  แล้วพบกันใหม่สวัสดีครับ






ระพีพัฒน์
ภาพประกอบ   SIW, RWI, BSW, TWP
ข้อมูลประกอบ 
 SIW, RWI, BSW, TWP
ข้อมูลอ้างอิง   มอก. 420-2540


www.ebuild.co.th








 

สถิติ