วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

ครบเครื่องเรื่องสุขภัณฑ์ ตอนที่ 3 ชักโครก......ชักครอก แบบไหนถึงจะใช้ได้


ชักโครก ตามความหมายในพจนานุกรมคือ ที่นั่งถ่ายอุจจาระมีที่เปิดนํ้าขับล้างได้ ส่วนชักครอก ตามความหมายในพจนานุกรมคือ เรียกลูกปลาจำพวกปลาช่อนที่ตามพ่อเป็นฝูง ๆ ว่า ลูกชักครอก, ลูกครอก อ้าวแล้วมันเกี่ยวข้องกันตรงไหนล่ะ ผมบอกได้เลยว่ามันไม่เกี่ยวครับ แต่ที่ยก

มาพูดก็เพราะว่ามันเป็นความที่ไม่รู้ของผมเอง ว่าชักครอกกับชักโครกมันไม่เหมือนกัน เป็นสิ่งที่แตกต่างกันขนาดที่ว่าตัวหนึ่งเป็นวัตถุและอีกตัวหนึ่งเป็นสิ่งมีชิวิต ผมรู้ก็เพียงว่าผมเห็นชักครอกแล้วก็คิดว่ามันชื่อชักโครก ชื่อเดียวกับสุขภัณฑ์ชิ้นโตที่อยู่ในห้องน้ำ ความมาแตกก็ตอนที่ผมนั่งเล่นอยู่กับคุณแม่ที่ท่าน้ำหน้าบ้าน (คุณแม่อีกล่ะ) แล้วไอ้เจ้าฝูงชักครอกที่ว่านี้ก็ว่ายตามน้ำมาเรื่อย ๆ ครับ ผมเห็นดังนั้นจึงชี้ให้แม่ผมดูพร้อมกับเรียกมันอย่างเต็มปากเต็มคำว่า “แม่ ๆ ดูชักโครกสิ” แม่ผมเห็นแล้วก็หัวเราะพร้อมกับบอกว่า “มันเรียกว่าชักโครกที่ไหน นี่มันลูกชักครอกต่างหาก” ผมก็แอบคิดในใจ ทำไมแม่ไม่บอกผมตั้งแต่ทีแรกล่ะปล่อยให้หาความรู้จากจอทีวีเก่า ๆ ที่บ้านอยู่ได้ (แอบงอนนิด ๆ ) พอแม่ผมเลิกหัวเราะผมก็จัดการย้อนถามกลับเพื่อเป็นการเรียกขวัญและกำลังใจกลับมาว่า “แล้วแม่รู้จักเหรอว่าชักโครกหน้าตาเป็นไง” แม่ผมหันมามองหน้าผมพร้อมกับหน้าตาที่บ่งบอกว่าไอ้ลูกคนนี้มันคิดจะลองภูมิแม่ซะแล้ว “ทำไมจะไม่รู้จักล่ะ ก็ไอ้ส้วมที่มันต้องนั่งลงไปเลยนั่นแหละชักโครก” อ้าวแม่ผมรู้จัก ว่าแล้วผมก็จัดการถามต่อไปอีกว่าทำไมแม่ผมถึงไม่อยากใช้ชักโครก แม่ผมก็ให้เหตุผลที่เหมือน ๆ กับชาวบ้านแถบชนบททั่วไปว่า ไม่อยากนั่งลงไปตรง ๆ เท่าไหร่ เพราะมันสกปรกไม่รู้ก้นใครต่อใครและอีกอย่างหนึ่งคือแม่ไม่ชิน แม่ผมเคยเล่าให้ฟังว่าครั้งหนึ่งจำเป็นที่ต้องเข้ากรุงเทพฯ แล้วห้องน้ำมันก็มีแต่ห้องน้ำแบบชักโครกแม่ผมก็จัดการขึ้นไปนั่งท่ายอง ๆ กับชักโครกเพื่อทำภารกิจ ก็อย่างที่บอกแหละครับแม่ผมไม่ชินกับการนั่งลงไปตรง ๆ ก่อนที่เราจะไปเจาะลึกกับสุขภัณฑ์ชิ้นนี้ผมขอเตือนไว้ก่อนว่าการที่เราขึ้นไปเหยียบบนชักโครกมันเป็นการใช้งานที่ผิดมาก ๆ และการใช้งานที่ผิด ๆ แบบนี้มันก็จะพังเอาได้ง่าย ๆ ทางที่ดีเค้าให้เราใช้งานอย่างไรเราก็ใช้งานตามที่เค้าบอกไปดีกว่าครับ หากกลัวสกปรกก็สละเงินซื้อเจลหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคขวดเล็ก ๆ พกติดตัวไว้แค่นี้ก็ไม่ต้องกลัวเรื่องเชื้อโรคแล้วครับ เพราะมันไม่คุ้มกันเลยเวลาคุณพลาดตกลงมาหรือเวลามันพังในขณะที่คุณทำภารกิจอยู่

ชักโครก หรือ ภาษาอย่างเป็นทางการก็คือ โถสุขภัณฑ์นั่งราบ ซึ่งจะมีทั้งแบบเป็นชิ้นเดียว สองชิ้นหรือแบบราดน้ำหรือแบบใช้กับฟลัชวาล์วก็แล้วแต่เราจะสรรหามาใช้ไว้คู่กายกับห้องน้ำบ้านเราครับ ที่นี้เราก็มาดูกันก่อนครับว่าสุขภัณฑ์ชิ้นนี้มีหน้าตาอย่างไรบ้าง

จากรูปตัวอย่างที่ผมมาให้ทุกคนดูคงพอจะรู้จักโถสุขภัณฑ์กันมากขึ้นแล้ว และจากรูปทุกคนคงบอกว่าโถสุขภัณฑ์นั้นมันจะยากอะไรกันนักหนา ผมบอกตรงนี้เลยนะครับว่าถึงมันจะเรียกชักโครกเหมือนกันแต่การทำงานของแต่ละรุ่นในแต่ละยี่ห้อนั้นต่างกันครับ โดยเฉพาะเรื่องการชำระล้างของเสียนั่นแหละครับ ก็เลยเป็นที่มาของชื่อตอนที่ว่า “แบบไหนถึงจะใช้ได้” เอาละที่นี้ก็ถึงเวลามาเจาะลึกในแบบที่ผมจะแนะนำแล้วนะครับ นั่นคือ ระบบการชำระล้าง เรามาดูกันว่าระบบชำระล้างที่ผมนำมาเสนอนั้นเป็นอย่างไร

ระบบการชำระล้างของตัวสุขภัณฑ์เองมีแบบการชำระล้างให้เลือกหลายแบบมาก ๆ โดยมีหลัก ๆ ดังนี้

1. Wash Down ระบบชำระล้างตัวนี้ก็เหมือนกับเราตักน้ำแล้วราดลงไปตรง ๆ แค่เปลี่ยนจากใช้มือแล้วตักราดก็เปลี่ยนให้มันราดจากหม้อน้ำแทน ระบบนี้จะเลือก

การใช้น้ำได้ เช่น 3/6 ลิตร หรือ 3/4.5 ลิตร

2. Siphon Wash Down คือระบบกาลักน้ำ เป็นระบบที่พัฒนามาจาก Wash

Down ลักษณะการทำงานเมื่อเรากดชำระแล้วน้ำจะเอ่อขึ้นมาและอั้นไว้ในคอห่านจนเกิดการดูดลงไปดัง “โคร๊ก” (เพราะเสียงนี้จึงอาจกลายเป็นที่มาของชื่อ ชักโครก ในที่สุด) ผมจะขอพูดอธิบายให้เห็นภาพและเพิ่มอรรถรสกันมากขึ้นอีกหน่อยแล้วกัน ระบบนี้ส่วนใหญ่ที่ผมเจอก็มักเป็นห้องน้ำสาธารณะทั้งหลายในสมัยก่อน ๆ (ปัจจุบันก็ยังมี) เมื่อเราทำภารกิจเรียบร้อยแล้วต้องการจะให้มันไปในที่ที่มันควรอยู่ แต่เราต้องกลับมาคอยยืนลุ้นว่ามันจะลงไปไหม เพราะไอ้ของที่เราเพิ่งจะกำจัดมันไปมันจะตามมาหลอกหลอนโดยการค่อย ๆ ลอยตามน้ำขึ้นมาเรื่อย ๆ จนเกือบถึงขอบโถแล้วจากนั้นมันจึงค่อยม้วนตัวกลับลงไปโดยมักจะเหลือร่องรอยให้เราได้ชื่นชมอยู่เสมอ แต่ก็มีบางครั้งนะครับที่มันไม่ค่อยยอมจากเราไปไหน มันดื้อลอยขึ้นมาสร้างประติมากรรมบรรลือโลกอยู่นอกโถสุขภัณฑ์ บอกได้คำเดียวว่าตัวใครตัวมันครับ

3. Siphon Jet เป็นระบบที่เพิ่มเติมจากระบบด้านบน นั่นก็เป็นเพราะไอ้เจ้าของเสียที่ว่าเนี่ยมันจะจากเราไปอย่างยากเย็นเหลือเกิน เค้าจึงติดตั้งหัวเจ็ทเพิ่มขึ้นมาเพื่อจัดการไอ้เจ้าของเสียของเราให้มันจากเราไปได้แบบเร็วขึ้น สังเกตได้จากตรงส่วนคอห่าน ถ้าหากมีรูจ่ออยู่หน้าคอห่านตามภาพด้านล่าง นั่นก็คือระบบ Siphon Jet ครับ

4. Siphon Vortex จากที่ผมได้ค้นข้อมูลมา กล่าวกันว่าระบบนี้เป็นระบบที่ดีที่สุด เงียบที่สุด แต่ก็ใช้น้ำมากที่สุดเช่นกัน ระบบชำระล้างนี้ทั่วไปแล้วจะอยู่ในรุ่นของสุขภัณฑ์ชิ้นเดียวเสียเป็นส่วนใหญ่ ลักษณะของระบบนี้คือ เมื่อทำการชำระล้าง น้ำจะทำหน้าที่หมุนวนอยู่ในโถคล้ายกับสะดือทะเล จึงเป็นเหตุให้ต้องใช้น้ำมากในการชำระล้างแต่ละครั้ง ก็เพื่อเพิ่มอัตราการไหลออกของน้ำนั่นเอง ไม่น่าเชื่อว่าแรก ๆ นั้นระบบนี้จะใช้น้ำมากถึง 16 ลิตร แต่ในปัจจุบันระบบได้มีการพัฒนามากขึ้นจนสามารถใช้น้ำเพียง 9 ลิตร ซึ่งสำหรับผมแล้วผมว่ามันก็ยังมากเกินไปอยู่ดี

5. Gravity Tornado เป็นนวัตกรรมใหม่แห่งการชำระล้างก็ว่าได้ครับ โดยหลักการทำงานจะมีหลัก ๆ 3 ขั้นตอนคือ กวาดโถ ชำระออก และเติมน้ำกลับเข้าไปใหม่ ซึ่งลักษณะการชำระล้างนั้น เมื่อเรากดปุ่มชำระน้ำจะไหลออกรอบ ๆ ขอบโถด้วยความเร็วสูงให้ได้รอบถึง 360 องศา และในเวลาเดียวกันการดันของเสียออกก็จะใช้หลักการทำงานแบบ Siphon Jet หรือกาลักน้ำ ด้วยลักษณะของน้ำที่หมุนวนอย่างรุ่นแรงนี้ จึงคล้ายกับลักษณะของพายุ ทอร์นาโด นั่นเอง

เอาละครับก็ได้เวลากล่าวจากลากับตอนที่ 3 นี้แล้ว ในชื่อตอนที่ว่า ชักโครกหรือชักครอกแบบไหนถึงจะใช้ได้ และท่านผู้อ่านละครับเลือกที่จะใช้สุขภัณฑ์ที่มีระบบการชำระล้างแบบไหน ส่วนสำหรับผมแล้วผมคงไม่กล้าเสี่ยงกับระบบที่ใช้น้ำมาก ๆ อย่าง Siphon vortex อย่างแน่นอนครับ ก็รายได้ผมมันช่างน้อยนิดถ้าเอาไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟซะหมด แล้วผมจะทานอะไรละ จริงไหมครับท่านผู้อ่าน ส่วนตอนหน้าผมจะมาพูดถึงของที่ใช้คู่กันครับ สวัสดีครับ...


ระพีพัฒน์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Pantip.com ( คุณ Jickkalo, คุณ Mirrorlake ) , TOTO BKK
ภาพประกอบจาก Pantip.com ( คุณ napo ), American Standard, COTTO, TOTO BKK
www.ebuild.co.th

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 

สถิติ