วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554

ครบเครื่องเรื่องสุขภัณฑ์ ตอนที่ 5 “ Bidet ” บิเด้ คืออะไร เป็นอย่างไรเรามารู้จักกัน


ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปนี้ อะไรหลาย ๆ อย่างก็ดูจะเปลี่ยนไปหมด ค่านิยม การดำรงชีวิต หรือแม้แต่วัฒนธรรม ดังจะเห็นได้จากวัฒนธรรมหนึ่งคือ ผู้หญิงกับผู้ชายที่ดูจะมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น ซึ่งก็คงเป็นเพราะโลกมันไม่เคยหยุดหมุนนั่นเอง พูดถึงเรื่องนี้ผมก็นึกคำพูด(สำนวน)อย่างหนึ่งขึ้นมาได้ว่า “ช้างเท้าหน้า” ซึ่งหมายความถึงการเป็นผู้นำของครอบครัวนั่นก็คือฝ่ายชาย แต่ในปัจจุบันนี้มันได้เป็นแบบแต่ก่อนอีกต่อไป เรื่องสำคัญ ๆ ในบางเรื่อง(ผมว่าหลายเรื่อง)ฝ่ายหญิงเองก็เป็นฝ่ายออกหน้า ที่เห็นตัวอย่างชัด ๆ ก็คนใกล้ตัวผมนั่นแหละครับ ก็คือคุณพ่อกับคุณแม่ของผมเอง ในบางเรื่องก็ตัดสินใจเองเพียงคนเดียวไม่ได้ ช่วยกันคิดช่วยกันแก้ก็ย่อมดีกว่าใช่ไหมครับ แต่ผมว่าประเทศไทยนั้นยังดีกว่าในบางประเทศในแถบเอเชียด้วยกันโดยเฉพาะประเทศอินเดีย ซึ่งยังถือว่าผู้ชายเหนือกว่าผู้หญิงอยู่มาก ขนาดที่ว่าการแต่งงานนั้นฝ่ายเจ้าสาวยังต้องขนขันหมากไปสู่ขอเลย แล้วพิธีกรรมที่โหดร้ายบางเรื่องก็ยังมีให้เห็น ตัวอย่างเช่น การสตี(สัตตี) ที่หากว่าเมื่อใดก็ตามฝ่ายสามีตายจากไปฝ่ายหญิงเองก็ต้องกระโดดเข้ากองไฟตายตามไปด้วย! ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าพิธีกรรมนี้ยังมีอยู่จริง เอาล่ะนอกเรื่องมาเยอะแล้ว วันนี้ผมมาพูดถึงเรื่องสุขภัณฑ์ก็ต้องเป็นเรื่องสุขภัณฑ์สิ ก็เกริ่นมาซะยาวขนาดนี้ผมก็คงต้องพูดถึงสุขภัณฑ์ที่ใช้สำหรับคุณผู้หญิง(ส่วนใหญ่) นั่นคือ โถปัสสาวะหญิงหรือ “โถบิเด้”

ก่อนที่เรา ๆ ท่าน ๆ จะไปทำความรู้จักกับสุขภัณฑ์ชิ้นนี้ ผมก็ขอเอาข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับประวัติของสุขภัณฑ์ชิ้นนี้มาฝากด้วยครับ Bidet หรือ บิเด้ นั้น เป็นคำที่มาจากภาษาฝรั่งเศส ซึ่งคำนี้แต่เดิมจะหมายถึง “ม้าขนาดเล็กหรือม้า” (ม้าขนาดเล็กนั้นคงหมายถึงลา) โดยแต่เดิมนั้นใช้กันในหมู่เจ้านาย ชนชั้นสูงหรือเชื้อพระวงศ์ของฝรั่งเศส โดยอุปกรณ์หรือสุขภัณฑ์ที่ว่านี้ก็ทำมาจากไม้และตั้งอยู่บนขาตั้งอีกที เวลาใช้งานก็นั่งคร่อมลงไปดังภาพตัวอย่าง ภาพแรกเลยครับ สำหรับต้นกำเนิดของ บิเด้ นั้น ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้น ขนาดวันที่ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาก็ไม่มีหลักฐานที่แน่นอนเช่นกัน นักวิชาการหลาย ๆ ท่านก็คาดการณ์ไว้แต่เพียงว่าน่าจะอยู่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 จนถึงศตวรรษที่ 18 ซึ่งผมมองว่ามันเป็นกรอบเวลาที่กว้างมาก ๆ เลยทีเดียว ว่ากันว่าโถบิเด้ในสมัยนั้นไม่ได้ผลิตมาเพื่อเป็นเพียงแค่โถปัสสาวะหากแต่ว่าจะยังสามารถใช้เพื่อการชำระล้างอวัยวะเบื้องล่าง ก่อนและหลังมีเพศสัมพันธ์ (คงไม่ต้องบรรยายนะครับว่าเป็นอวัยวะชิ้นไหน) แหม...เตรียมพร้อมกันดีจัง ในปัจจุบันนี้ บิเด้ ได้ถูกพัฒนาวัสดุในการผลิตมาเรื่อย ๆ จนบิเด้ในยุคปัจจุบันทำมาจากเซรามิค แต่บิเด้เองนั้นไม่ค่อยเป็นที่นิยมในชาวฝรั่งเศสมากนัก คงอาจเป็นเพราะด้วยพื้นที่จำกัดก็เลยจำเป็นต้องเลือกติดตั้งสุขภัณฑ์เพียงชิ้นเดียวนั่นคือ ชักโครก ถึงแม้ว่าในฝรั่งเศสจะไม่เป็นที่นิยม บิเด้ ก็ยังแผ่ขยายกระจายออกไปในหลายทวีป ได้แก่ทวีปยุโรป มีประเทศอิตาลี สเปน โปรตุเกส แอลเบเนีย โครเอเชีย สโลวีเนีย กรีซ ทวีปอเมริกาใต้ ได้แก่ประเทศ อาร์เจนตินา อุรุกวัย แอฟริกา อียิปต์ โมรอกโก ทวีปเอเชีย อันได้แก่ประเทศ บังกลาเทศ ไทย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ใช้มากที่สุดในเอเชียก็ว่าได้ซึ่งมากถึง 60 % เลยทีเดียว เอาละครับเราไปรู้จักกับหน้าตารูปทรงในยุคปัจจุบันกันครับว่าเป็นอย่างไร ซึ่งก็ไม่ได้แปลกแตกต่างไปจากเดิมเท่าไหร่นัก

จากที่นั่งมองรูปอยู่นาน ท่านผู้อ่านสังเกตเห็นอะไรบ้างไหมครับ ใช่แล้วครับลักษณะหน้าตามันเหมือนอ่างล้างหน้าไม่มีผิดเพี้ยนแค่ไอ้เจ้าบิเด้เนี่ยมันจะติดตั้งเคียงคู่กันกับชักโครกเรียกได้ว่า แทบจะเป็นพี่น้องกันเลยทีเดียว ถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยแล้วว่าเวลาใช้งานล่ะเป็นยังไง ถ้าหากให้เอารูปขณะที่มนุษย์เพศหญิงกำลังชำระล้างมาลงละก็ ผมว่าบทความนี้อาจอยู่บนโลกไซเบอร์ไม่เกิน 2 วันเป็นแน่แท้ คงโดน ICT สกัดกั้นอย่างแน่นอน ส่วนการเข้าใช้งานนั้นผมว่าคุณหรือท่านทั้งหลายจะหันหน้าหรือหันหลังเข้า ก็คงไม่ผิดนะครับ บางคนอยากหันข้างก็ทำได้ มันไม่มีใครรู้หรอก เพราะมันไม่มีใครไปนั่งดูเวลาคุณปฏิบัติภารกิจ จริงไหมล่ะ แต่ที่ผมได้ยินมาส่วนใหญ่นั้นคือหันหน้าเข้าครับ อ่อแล้วเวลาใช้งานก็อย่าลืมเปิดก๊อกด้วยล่ะ (จะพูดทำไม ก็รู้ ๆ กันอยู่) ขอวกกลับมาเรื่องที่หน้าตามันคล้ายกันกับอ่างล้างหน้าหน่อยครับ ผมไม่ได้พูดเฉย ๆ นะ ผมมีรูปมายืนยันด้วย แต่ก่อนจะไปยืนยันด้วยรูปผมขอกล่าวถึงส่วนที่คล้ายหรือเหมือนกันของบิเด้กับอ่างล้างหน้าสักหน่อย อย่างแรกที่คล้ายกันคือหน้าตา อันนี้คงไม่ต้องอธิบายอะไรมาก อย่างที่สองคือเรื่องท่อน้ำเข้าและท่อน้ำทิ้ง ตัวอ่างล้างหน้าน้ำเข้า(น้ำดี)จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางที่ 1/2 นิ้ว และน้ำออก(น้ำทิ้ง) จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางที่ 1 1/2 นิ้ว ซึ่งโถบิเด้ก็เช่นเดียวกัน มีขนาดเท่ากันไม่มีผิดเพี้ยนแต่อย่างใด และอย่างสุดท้ายในเรื่องขนาดที่เกือบ ๆ จะเท่ากันมาก แต่ไม่ถึงกับเท่ากันทีเดียวนัก อ่างล้างหน้าจะกว้างไม่ยาว ส่วนบิเด้จะยาวแต่ไม่กว้างเท่าไหร่ แต่ผมว่ามองไปมองมามันเหมือนกับชักโครกเหมือนกันนะครับ เอาเป็นว่ามันคงรวมร่างระหว่างอ่างล้างหน้ากับชักโครกจนกลายเป็น บิเด้ ก็เป็นได้

มาถึงย่อหน้าสุดท้ายกันสักที วันนี้ผมก็คงแนะนำเจ้าบิเด้เพียงเท่านี้ครับ เพราะสุขภัณฑ์ชิ้นนี้นั้นไม่ได้ใช้งานซับซ้อนเท่าไหร่นัก ระบบการชำระล้างก็ไม่ได้มีมากเหมือนชักโครกด้วย และวิธีการติดตั้งก็ไม่เยอะเหมือนอ่างล้างหน้า ผมจึงคงไม่จำเป็นต้องพูดอะไรให้มากกว่าที่แนะนำไปวันนี้ ผมเชื่อว่าหลังจากที่ทุกท่านอ่านบทความนี้ไป คงได้รู้จักบิเด้กันมากขึ้น ส่วนใครก็ตามที่อยากจะเห็นหน้าตาของมันจริง ๆ ว่าเป็นอย่างไรคงต้องไปหาแถวโรงแรมระดับ 5 ดาวในกรุงเทพ ฯ ครับ เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จักมักคุ้นกันมากเท่าไหร่นัก ในตอนหน้าเป็นตอนที่เราคงต้องจากลากับเรื่องสุขภัณฑ์ เพราะผมจะพาทุกท่านไปสุขหรรษาโดยการชวนกันไปลง “อ่าง” กันครับ แล้วพบกันใหม่ สวัสดีครับ



ระพีพัฒน์
ข้อมูลประกอบ Wikipedia
ภาพประกอบ TOTOBKK, COTTO, Wikipedia
www.ebuild.co.th

วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

ครบเครื่องเรื่องสุขภัณฑ์ ตอนที่ 4 คู่กันแล้วก็ต้องไม่แคล้วกัน


เมื่อพูดถึงของที่คู่กันหรือใช้คู่กันท่านผู้อ่านจะนึกถึงอะไรกันบ้างครับ แน่นอนว่าหลายคนจะนึกถึงสิ่งนี้เป็นอย่างแรกนั่นคือ ผู้ชายคู่กับผู้หญิง แต่ก็มีบ้างบางครั้งที่ฝืนกฎเช่น ผู้ชายคู่กับผู้ชาย ผู้หญิงคู่กับผู้หญิง ก็ว่ากันไป เราไม่ว่ากัน รสนิยมใครรสนิยมมัน ความรักมันไม่มีพรมแดน ไม่มีคำจำกัดความ จริงไหมครับ แต่ว่าวันนี้เรามาพูดกันถึงเรื่องสุขภัณฑ์ ของที่ใช้คู่กันที่ผมจะพูดถึงนั่นคือ อ่างล้างหน้ากับก๊อกน้ำ และที่ผมจะมาพูดวันนี้คือการแนะนำให้รู้จักหน้าตาอ่างล้างหน้ากับก๊อกน้ำที่ใช้กับอ่างล้างหน้าว่ามีกี่แบบครับ ไปติดตามกันเลย...

อ่างล้างหน้าแบบฝังบนเคาน์เตอร์ ในบางบริษัทจะบอกว่าอ่างล้างหน้าแบบเคาน์เตอร์ครับ โดยหน้าตาของมันก็เหมือนอ่างล้างหน้าทั่ว ๆ ไป แต่ว่าจะติดตั้งอยู่บนเคาน์เตอร์อีกที โดยเป็นการฝังลงไปในเคาน์เตอร์ ซึ่งจะเหลือขอบอ่างให้เห็นเพียงเล็กน้อย ตามรูปตัวอย่างครับ

อ่างล้างหน้าแบบวางบนเคาน์เตอร์ ลักษณะของอ่างล้างหน้าประเภทนี้ก็คือการที่เรานำอ่างล้างหน้าไปวางบนเคาน์เตอร์ตรง ๆ เลยนั่นแหละครับ แค่นี้ท่านผู้อ่านก็คงพอนึกภาพออกแล้ว เอาเป็นว่าไปดูภาพเพื่อตอกย้ำความเข้าใจกันเลยดีกว่า

อ่างล้างหน้าแบบฝังครึ่งเคาน์เตอร์ ตอนแรกที่ผมได้ยินชื่อนี้ก็นึกไปว่ามันคงจะฝังครึ่งแบบการฝังแบบแรกโดยจะฝังอ่างเพียงครึ่งเดียวคือการฝังครึ่งล่างแล้วเหลือส่วนบนไว้ แต่คิดผิดถนัดครับ ภาพที่ผมไปพบมาคือมันฝังครึ่งหลัง โดยจะเหลือเพียงอ่างส่วนหน้ายื่นออกมาจากเคาน์เตอร์ เพื่อไม่ให้งงไปมากกว่านี้ผมก็มีภาพมาให้ชมอีกเช่นเคย

อ่างล้างหน้าแบบแขวนผนัง ชื่อก็บอกอยู่แล้วครับว่าแขวนผนัง โดยส่วนมากแล้วอ่างล้างหน้าแบบนี้มักเป็นที่นิยมกันมาก โดยเฉพาะอาคารจำพวกหอพัก เพราะว่ามันประหยัดเนื้อที่ และก็ประหยัดเงินในกระเป๋าด้วย (ก็มันไม่ต้องใช้เคาน์เตอร์ในการติดตั้งมันเลยประหยัด) แต่ว่าผู้ผลิตเองก็จะมีขาตั้งแถมมาในชุดด้วยเพื่อให้เกิดความสวยงาม น่าใช้ แต่มันก็ยังติดตั้งโดยการแขวนผนังอยู่ดีนั่นแหละครับ ไม่ได้วางบนพื้นไปตรง ๆ เพื่อให้ทำความเข้าใจก็เหมือนเดิมครับ ภาพประกอบด้านล่าง

อ่างล้างหน้าแบบฝังใต้เคาน์เตอร์ ในเมื่อมีแบบฝังครึ่งไปแล้ว ก็ต้องมีแบบฝังไปทั้งหมดเช่นกัน อ่างแบบนี้จะมีลักษณะที่เอาอ่างล้างหน้าฝังไปใต้เคาน์เตอร์ทั้งหมด คือจะไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดโผล่ขึ้นมาให้เห็นเลยแม้แต่นิดเดียว จะมีให้เห็นก็คือส่วนที่เป็นส่วนของอ่างหรือส่วนที่รองรับน้ำจากก๊อกเท่านั้นที่เราจะเห็นมัน

อ่างล้างหน้าแบบพร้อมเคาน์เตอร์ เราจะทำเคาน์เตอร์ให้ยุ่งยากทำไม ในเมื่อมีแบบที่อ่างล้างหน้ามาพร้อมกับเคาน์เตอร์ให้เราได้ใช้งานกัน ลักษณะของอ่างล้างหน้าประเภทนี้ สังเกตง่าย ๆ ว่าตัวอ่างกับตัวเคาน์เตอร์นั้นจะรวมกันมาเป็นตัวเดียวกัน อ่างล้างหน้าแบบนี้ข้อดีคือ ติดตั้งง่าย ไม่ต้องมานั่งก่อเคาน์เตอร์ก่อนเพื่อจะติดตั้งอ่าง ข้อเสียคือ ถ้าหากว่าส่วนใดส่วนหนึ่งชำรุดแล้วละก็ ต้องเปลี่ยนยกเซ็ตสถานเดียวครับ

ก็จบกันไปสำหรับอ่างล้างหน้าที่นำมาให้ชมกัน คราวนี้ก็ผมก็จะมาแนะนำสิ่งที่ใช้คู่กันเพื่อที่จะให้เข้าคอนเซ็ป คู่กันแล้วก็ต้องไม่แคล้วกันนั่นคือ ก๊อกอ่างล้างหน้า หากเราคิดที่จะติดตั้งอ่างล้างหน้าอย่างสวยหรูแล้วแต่ไม่ติดตั้งก๊อกอ่างล้างหน้านี้ก็เหมือนว่ามันขาดอะไรบางอย่างไปจริง ๆ อ่างล้างหน้าก็คงได้เป็นแค่อ่างล้างหน้าที่ไว้ตั้งโชว์เท่านั้น ไอ้ครั้นที่จะเอาสายยางมาต่อกับก๊อกสนามแล้วลากสายมาเพื่อเอามาใช้กับอ่างล้างหน้า อันนี้ผมว่าทุบทิ้งเถอะอ่างล้างหน้านะ เปลืองเปล่า ๆ สำหรับก๊อกที่ใช้สำหรับอ่างล้างหน้านั้นมีกี่ประเภทกี่แบบให้เลือก เราไปทำความรู้จักกันเลยครับ

ก๊อกเดี่ยวอ่างล้างหน้า ด้วยชื่อของก๊อกตัวนี้กับคำว่า ”เดี่ยว” ดังนั้นก็จะมีเพียงตัวก๊อกเพียงอันเดียว วาล์วที่ใช้เปิดปิดน้ำก็จะติดอยู่ที่ตัวก๊อกเลย จะเป็นแบบก้านปัดก้านโยกก็ว่ากันไป แล้วแต่ดีไซน์ของแต่ผู้ผลิตของแต่ละเจ้าว่าเค้าจะทำออกมาแบบไหน บางครั้งหัวก๊อกเองนั้นก็ทำให้ดูน่าใช้ น่ารัก แทนที่จะเป็นเพียงแค่ก๊อกน้ำธรรมดา ก็อาจกลายเป็นเครื่องประดับอยู่คู่ห้องน้ำไปเลยก็ได้ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าเราจะเลือกใช้แบบไหนกัน ดังภาพตัวอย่างที่นำมาให้ชมนั้นก็น่ารักน่าใช้ใช่ไหมครับท่านผู้อ่าน


ก๊อกผสมอ่างล้างหน้า ก๊อกชนิดนี้มีความพิเศษตรงที่เราสามารถใช้ได้ทั้งน้ำร้อนและน้ำเย็น ซึ่งหัวก๊อกเองนั้นผู้ผลิตอาจจะผลิตแยกออกมาจากตัวก๊อกคือ น้ำเย็นหัวหนึ่งน้ำร้อนหัวหนึ่ง แต่บางครั้งน้ำร้อนและน้ำเย็นนั้นก็อยู่ในหัวก๊อกเดียวเลย แค่เพียงเราหมุนไปทางซ้ายหรือทางขวาเท่านั้น จะพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ หากน้ำร้อนนั้นอยู่ทางด้านซ้ายเราก็หมุนหัวก๊อกไปทางด้านซ้ายมาก ๆ ซึ่งในทางกลับกันน้ำเย็นจะอยู่ทางด้านขวา เราก็เพียงแค่หมุนก๊อกให้มาทางขวามาก ๆ ครับ


ก๊อกอ่างล้างหน้าอัตโนมัติ (เซ็นเซอร์) ลักษณะเด่นของก๊อกตัวนี้คือ อัตโนมัติ เพราะเพียงแค่เรานำมือน้อย ๆ ที่เมื่อกำแล้วจะเท่ากับหัวใจของเรา เอาไปจ่อที่หน้าก๊อกชนิดนี้ น้ำจากก๊อกก็จะไหลพรั่งพรูลงมา ให้เราได้ชำระล้างมืออันแสนบอบบางของเรา แต่ว่าหากเราไปจ่ออยู่ที่หน้าก๊อกน้ำชนิดนี้เกินกว่า 40-60 วินาทีแล้ว มันจะหยุดไหลทันทีครับ เพราะเค้าตั้งมาให้เราใช้งานได้ 40-60 วินาทีต่อ 1 ครั้ง ซึ่งเวลาที่ก๊อกจะหยุดการทำงานนั้น มันก็แล้วแต่รุ่นกับแล้วแต่บริษัทผู้ผลิตว่าจะตั้งมาให้ใช้งานได้กี่วินาทีต่อครั้ง โดยตัวเซ็นเซอร์เราสามารถที่จะตั้งการปรับระยะการจับเซ็นเซอร์ได้ที่ 20-200 มม. หรือมากกว่าซึ่งก็แล้วรุ่นแล้วแต่บริษัทผู้ผลิตอีกนั่นเอง สำหรับใครที่อยากจะลองใช้ก๊อกน้ำชนิดนี้ไว้ภายในบ้านผมแนะนำก่อนว่าให้ลองคิดให้ถี่ถ้วน คิดให้รอบคอบ คิดให้มาก ๆ และก็คิดให้หลาย ๆ ตลบครับ เพราะก๊อกตัวนี้ราคาก็เอาเรื่องอยู่เหมือนกัน ราคานั้นก็มีตั้งแต่ 7,000 ไปจนถึง 10,000 ขึ้นก็มีครับ และวิธีการติดตั้งนั้นก็ไม่ใช้ว่าจะติดตั้งกันง่าย ๆ อีกด้วย สำหรับใครที่มีข้อสงสัยที่ว่าแล้วแหล่งกำเนิดพลังงานละ มันใช้อะไร ผมบอกได้เลยว่ามีอยู่สามแบบครับ นั่นคือ ใช้ไฟฟ้า, ถ่านอัลคาไลน์ AA แบบ 4 ก้อน และถ่านลิเธียม ครับ แต่ถ้าหากว่าใครที่คันไม้คันมืออยากลองใช้งานดูบ้าง ผมแนะนำว่าให้ไปที่ห้องน้ำสาธารณะตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั้งหลาย คุณก็จะพบก๊อกที่ว่านี้อย่างแน่นอน แต่ผมจะบอกก่อนไว้เลยว่าคุณภาพของก๊อกมันไม่ได้แบบที่ผมแนะนำไปตอนแรกครับ เพราะเวลาเราเอามืออันน้อย ๆ ของเราไปจ่อแล้ว บางครั้งเซ็นเซอร์มันนึกนานมากว่าต้องปล่อยน้ำลงมา บางคนขี้เกียจรอก็เลยล้างมือแห้งก็มี แต่พอมันปล่อยน้ำลงมาแล้วก็ปล่อยมาน้อยและเวลาก็น้อยตามไปอีก ผมเคยยืนนับเวลาในใจมันได้แค่ 3 วินาทีเท่านั้น ! มันจะไปพออะไรจริงไหมละครับ หลายคนก็เลยต้องรอให้มันปล่อยน้ำออกมาหลาย ๆ ครั้ง ปล่อย ๆ หยุด ๆ อยู่นั่นแหละ จนบางทีผมก็อดหัวเราะกับมันไม่ได้ คนข้าง ๆ ก็คงหาว่าผมบ้า ไอ้นี่มายืนหัวเราะอยู่หน้าอ่างล้างหน้าคนเดียว ก็จะไม่ให้หัวเราะได้ไงละครับ การทำงานของมันเหมือนพวกคนที่ท่อปัสสาวะอักเสบยังไงยังงั้น ไม่มีผิดเพี้ยน เอาเป็นว่าพอกับก๊อกชนิดนี้ก่อนดีกว่าเดี๋ยวจะเลยเถิดไปกันใหญ่


ระพีพัฒน์
ภาพประกอบจาก COTTO , Internet
www.ebuild.co.th

วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

ครบเครื่องเรื่องสุขภัณฑ์ ตอนที่ 3 ชักโครก......ชักครอก แบบไหนถึงจะใช้ได้


ชักโครก ตามความหมายในพจนานุกรมคือ ที่นั่งถ่ายอุจจาระมีที่เปิดนํ้าขับล้างได้ ส่วนชักครอก ตามความหมายในพจนานุกรมคือ เรียกลูกปลาจำพวกปลาช่อนที่ตามพ่อเป็นฝูง ๆ ว่า ลูกชักครอก, ลูกครอก อ้าวแล้วมันเกี่ยวข้องกันตรงไหนล่ะ ผมบอกได้เลยว่ามันไม่เกี่ยวครับ แต่ที่ยก

มาพูดก็เพราะว่ามันเป็นความที่ไม่รู้ของผมเอง ว่าชักครอกกับชักโครกมันไม่เหมือนกัน เป็นสิ่งที่แตกต่างกันขนาดที่ว่าตัวหนึ่งเป็นวัตถุและอีกตัวหนึ่งเป็นสิ่งมีชิวิต ผมรู้ก็เพียงว่าผมเห็นชักครอกแล้วก็คิดว่ามันชื่อชักโครก ชื่อเดียวกับสุขภัณฑ์ชิ้นโตที่อยู่ในห้องน้ำ ความมาแตกก็ตอนที่ผมนั่งเล่นอยู่กับคุณแม่ที่ท่าน้ำหน้าบ้าน (คุณแม่อีกล่ะ) แล้วไอ้เจ้าฝูงชักครอกที่ว่านี้ก็ว่ายตามน้ำมาเรื่อย ๆ ครับ ผมเห็นดังนั้นจึงชี้ให้แม่ผมดูพร้อมกับเรียกมันอย่างเต็มปากเต็มคำว่า “แม่ ๆ ดูชักโครกสิ” แม่ผมเห็นแล้วก็หัวเราะพร้อมกับบอกว่า “มันเรียกว่าชักโครกที่ไหน นี่มันลูกชักครอกต่างหาก” ผมก็แอบคิดในใจ ทำไมแม่ไม่บอกผมตั้งแต่ทีแรกล่ะปล่อยให้หาความรู้จากจอทีวีเก่า ๆ ที่บ้านอยู่ได้ (แอบงอนนิด ๆ ) พอแม่ผมเลิกหัวเราะผมก็จัดการย้อนถามกลับเพื่อเป็นการเรียกขวัญและกำลังใจกลับมาว่า “แล้วแม่รู้จักเหรอว่าชักโครกหน้าตาเป็นไง” แม่ผมหันมามองหน้าผมพร้อมกับหน้าตาที่บ่งบอกว่าไอ้ลูกคนนี้มันคิดจะลองภูมิแม่ซะแล้ว “ทำไมจะไม่รู้จักล่ะ ก็ไอ้ส้วมที่มันต้องนั่งลงไปเลยนั่นแหละชักโครก” อ้าวแม่ผมรู้จัก ว่าแล้วผมก็จัดการถามต่อไปอีกว่าทำไมแม่ผมถึงไม่อยากใช้ชักโครก แม่ผมก็ให้เหตุผลที่เหมือน ๆ กับชาวบ้านแถบชนบททั่วไปว่า ไม่อยากนั่งลงไปตรง ๆ เท่าไหร่ เพราะมันสกปรกไม่รู้ก้นใครต่อใครและอีกอย่างหนึ่งคือแม่ไม่ชิน แม่ผมเคยเล่าให้ฟังว่าครั้งหนึ่งจำเป็นที่ต้องเข้ากรุงเทพฯ แล้วห้องน้ำมันก็มีแต่ห้องน้ำแบบชักโครกแม่ผมก็จัดการขึ้นไปนั่งท่ายอง ๆ กับชักโครกเพื่อทำภารกิจ ก็อย่างที่บอกแหละครับแม่ผมไม่ชินกับการนั่งลงไปตรง ๆ ก่อนที่เราจะไปเจาะลึกกับสุขภัณฑ์ชิ้นนี้ผมขอเตือนไว้ก่อนว่าการที่เราขึ้นไปเหยียบบนชักโครกมันเป็นการใช้งานที่ผิดมาก ๆ และการใช้งานที่ผิด ๆ แบบนี้มันก็จะพังเอาได้ง่าย ๆ ทางที่ดีเค้าให้เราใช้งานอย่างไรเราก็ใช้งานตามที่เค้าบอกไปดีกว่าครับ หากกลัวสกปรกก็สละเงินซื้อเจลหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคขวดเล็ก ๆ พกติดตัวไว้แค่นี้ก็ไม่ต้องกลัวเรื่องเชื้อโรคแล้วครับ เพราะมันไม่คุ้มกันเลยเวลาคุณพลาดตกลงมาหรือเวลามันพังในขณะที่คุณทำภารกิจอยู่

ชักโครก หรือ ภาษาอย่างเป็นทางการก็คือ โถสุขภัณฑ์นั่งราบ ซึ่งจะมีทั้งแบบเป็นชิ้นเดียว สองชิ้นหรือแบบราดน้ำหรือแบบใช้กับฟลัชวาล์วก็แล้วแต่เราจะสรรหามาใช้ไว้คู่กายกับห้องน้ำบ้านเราครับ ที่นี้เราก็มาดูกันก่อนครับว่าสุขภัณฑ์ชิ้นนี้มีหน้าตาอย่างไรบ้าง

จากรูปตัวอย่างที่ผมมาให้ทุกคนดูคงพอจะรู้จักโถสุขภัณฑ์กันมากขึ้นแล้ว และจากรูปทุกคนคงบอกว่าโถสุขภัณฑ์นั้นมันจะยากอะไรกันนักหนา ผมบอกตรงนี้เลยนะครับว่าถึงมันจะเรียกชักโครกเหมือนกันแต่การทำงานของแต่ละรุ่นในแต่ละยี่ห้อนั้นต่างกันครับ โดยเฉพาะเรื่องการชำระล้างของเสียนั่นแหละครับ ก็เลยเป็นที่มาของชื่อตอนที่ว่า “แบบไหนถึงจะใช้ได้” เอาละที่นี้ก็ถึงเวลามาเจาะลึกในแบบที่ผมจะแนะนำแล้วนะครับ นั่นคือ ระบบการชำระล้าง เรามาดูกันว่าระบบชำระล้างที่ผมนำมาเสนอนั้นเป็นอย่างไร

ระบบการชำระล้างของตัวสุขภัณฑ์เองมีแบบการชำระล้างให้เลือกหลายแบบมาก ๆ โดยมีหลัก ๆ ดังนี้

1. Wash Down ระบบชำระล้างตัวนี้ก็เหมือนกับเราตักน้ำแล้วราดลงไปตรง ๆ แค่เปลี่ยนจากใช้มือแล้วตักราดก็เปลี่ยนให้มันราดจากหม้อน้ำแทน ระบบนี้จะเลือก

การใช้น้ำได้ เช่น 3/6 ลิตร หรือ 3/4.5 ลิตร

2. Siphon Wash Down คือระบบกาลักน้ำ เป็นระบบที่พัฒนามาจาก Wash

Down ลักษณะการทำงานเมื่อเรากดชำระแล้วน้ำจะเอ่อขึ้นมาและอั้นไว้ในคอห่านจนเกิดการดูดลงไปดัง “โคร๊ก” (เพราะเสียงนี้จึงอาจกลายเป็นที่มาของชื่อ ชักโครก ในที่สุด) ผมจะขอพูดอธิบายให้เห็นภาพและเพิ่มอรรถรสกันมากขึ้นอีกหน่อยแล้วกัน ระบบนี้ส่วนใหญ่ที่ผมเจอก็มักเป็นห้องน้ำสาธารณะทั้งหลายในสมัยก่อน ๆ (ปัจจุบันก็ยังมี) เมื่อเราทำภารกิจเรียบร้อยแล้วต้องการจะให้มันไปในที่ที่มันควรอยู่ แต่เราต้องกลับมาคอยยืนลุ้นว่ามันจะลงไปไหม เพราะไอ้ของที่เราเพิ่งจะกำจัดมันไปมันจะตามมาหลอกหลอนโดยการค่อย ๆ ลอยตามน้ำขึ้นมาเรื่อย ๆ จนเกือบถึงขอบโถแล้วจากนั้นมันจึงค่อยม้วนตัวกลับลงไปโดยมักจะเหลือร่องรอยให้เราได้ชื่นชมอยู่เสมอ แต่ก็มีบางครั้งนะครับที่มันไม่ค่อยยอมจากเราไปไหน มันดื้อลอยขึ้นมาสร้างประติมากรรมบรรลือโลกอยู่นอกโถสุขภัณฑ์ บอกได้คำเดียวว่าตัวใครตัวมันครับ

3. Siphon Jet เป็นระบบที่เพิ่มเติมจากระบบด้านบน นั่นก็เป็นเพราะไอ้เจ้าของเสียที่ว่าเนี่ยมันจะจากเราไปอย่างยากเย็นเหลือเกิน เค้าจึงติดตั้งหัวเจ็ทเพิ่มขึ้นมาเพื่อจัดการไอ้เจ้าของเสียของเราให้มันจากเราไปได้แบบเร็วขึ้น สังเกตได้จากตรงส่วนคอห่าน ถ้าหากมีรูจ่ออยู่หน้าคอห่านตามภาพด้านล่าง นั่นก็คือระบบ Siphon Jet ครับ

4. Siphon Vortex จากที่ผมได้ค้นข้อมูลมา กล่าวกันว่าระบบนี้เป็นระบบที่ดีที่สุด เงียบที่สุด แต่ก็ใช้น้ำมากที่สุดเช่นกัน ระบบชำระล้างนี้ทั่วไปแล้วจะอยู่ในรุ่นของสุขภัณฑ์ชิ้นเดียวเสียเป็นส่วนใหญ่ ลักษณะของระบบนี้คือ เมื่อทำการชำระล้าง น้ำจะทำหน้าที่หมุนวนอยู่ในโถคล้ายกับสะดือทะเล จึงเป็นเหตุให้ต้องใช้น้ำมากในการชำระล้างแต่ละครั้ง ก็เพื่อเพิ่มอัตราการไหลออกของน้ำนั่นเอง ไม่น่าเชื่อว่าแรก ๆ นั้นระบบนี้จะใช้น้ำมากถึง 16 ลิตร แต่ในปัจจุบันระบบได้มีการพัฒนามากขึ้นจนสามารถใช้น้ำเพียง 9 ลิตร ซึ่งสำหรับผมแล้วผมว่ามันก็ยังมากเกินไปอยู่ดี

5. Gravity Tornado เป็นนวัตกรรมใหม่แห่งการชำระล้างก็ว่าได้ครับ โดยหลักการทำงานจะมีหลัก ๆ 3 ขั้นตอนคือ กวาดโถ ชำระออก และเติมน้ำกลับเข้าไปใหม่ ซึ่งลักษณะการชำระล้างนั้น เมื่อเรากดปุ่มชำระน้ำจะไหลออกรอบ ๆ ขอบโถด้วยความเร็วสูงให้ได้รอบถึง 360 องศา และในเวลาเดียวกันการดันของเสียออกก็จะใช้หลักการทำงานแบบ Siphon Jet หรือกาลักน้ำ ด้วยลักษณะของน้ำที่หมุนวนอย่างรุ่นแรงนี้ จึงคล้ายกับลักษณะของพายุ ทอร์นาโด นั่นเอง

เอาละครับก็ได้เวลากล่าวจากลากับตอนที่ 3 นี้แล้ว ในชื่อตอนที่ว่า ชักโครกหรือชักครอกแบบไหนถึงจะใช้ได้ และท่านผู้อ่านละครับเลือกที่จะใช้สุขภัณฑ์ที่มีระบบการชำระล้างแบบไหน ส่วนสำหรับผมแล้วผมคงไม่กล้าเสี่ยงกับระบบที่ใช้น้ำมาก ๆ อย่าง Siphon vortex อย่างแน่นอนครับ ก็รายได้ผมมันช่างน้อยนิดถ้าเอาไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟซะหมด แล้วผมจะทานอะไรละ จริงไหมครับท่านผู้อ่าน ส่วนตอนหน้าผมจะมาพูดถึงของที่ใช้คู่กันครับ สวัสดีครับ...


ระพีพัฒน์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Pantip.com ( คุณ Jickkalo, คุณ Mirrorlake ) , TOTO BKK
ภาพประกอบจาก Pantip.com ( คุณ napo ), American Standard, COTTO, TOTO BKK
www.ebuild.co.th

วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

ครบเครื่องเรื่องสุขภัณฑ์ ตอนที่ 2 ระวังจะตกคอห่าน


สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านครับ คงแปลกใจกันแล้วว่าทำไมผมใช้ชื่อตอนที่ 2 ว่า ระวังจะตกคอห่าน มันมีที่มาครับเพราะว่าสมัยเด็ก ๆ คุณแม่ผมชอบหลอกอยู่บ่อย ๆ ว่าเวลาเข้าห้องน้ำห้องท่าว่าให้นั่งระวัง ๆ น่ะ ไม่งั้นจะตกไปตายแน่ ๆ ผมก็งงจนถึงทุกวันนี้ว่าทำไมแม่ผมชอบหลอกผมแบบนี้ โตขึ้นมาผมก็มาลองนั่งคิด ๆ ดูว่าทำไม ก็เลยลองเดา ๆ ดูว่าคงเพราะไอ้เจ้าคอห่านที่ว่าเนี่ย อืม....มันใช้ทักษะอย่างสูงเหมือนกันน่ะ ในการนั่ง ลองจินตนาการตามผมนะครับว่าท่าในการนั่งเป็นอย่างไร แรกเริ่มเมื่อคุณเปิดประตูเข้าไปคุณจะพบเจ้าคอห่านจะติดตั้งอยู่มุมใดมุมหนึ่งของห้องน้ำ เจ้าคอห่านนี้จะมีลักษณะเป็นหลุมอยู่ตรงกลางมีจุดที่เราเราเหยียบเพียงแค่ 2 จุด จากนั้นให้เราขึ้นไปยืนครับ ต้องบอกว่ายืนถ่างขาด้วยไม่งั้นตกลงไปอย่างที่แม่ผมบอกแน่ ๆ เมื่อขึ้นไปยืนแล้วก็นั่งครับ ไม่ใช่นั่งลงไปเลยนะครับนั่งยอง ๆ ครับ แล้วก็จัดการภาระกิจส่วนตัวซะ ทีนี้แหละ ไอ้ตอนจะก้าวออกมาเนี่ยแหละมันช่างหวาดเสียวจริง ๆ ถ้าพลาดผมไม่อยากจะบรรยายเลยว่าสภาพมันจะเป็นอย่างไร เอาล่ะพูดพร่ำมาซะยืดยาวแล้ว เราเริ่มไปทำความรู้จักกับมันกันเลยดีกว่า



ส้วมคอห่านหรือ สุขภัณฑ์นั่งยอง (แหม....ตั้งชื่อดูซะสวยหรูทีเดียว) เป็นสุขภัณฑ์ที่ต้องบอกว่าคนไทยนี่แหละครับเป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นมาตั้งแต่ พ.ศ.2476 โดยพระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี) อดีตสมุหเทศาภิบาล ผู้สำเร็จราชการมณฑลพิษณุโลก โดยท่านได้ทดลองทำหัวส้วมที่ช่องปล่อยทิ้งของเสียด้านใต้โถมีลักษณะเป็นท่อกลมที่โค้งกลับขึ้นด้านบนจึงสามารถขังน้ำไว้ในคอท่อนั้นได้ จากภาพประกอบจะสังเกตุได้ว่าท่อที่โค้งกลับขึ้นด้านบนนั้นมีลักษณะเหมือนคอห่านจริงผมยืนยันได้ครับ (ที่คอของห่านมีลักษณะโค้งดังภาพประกอบ) ส้วมชนิดนี้ใช้น้ำราดให้อุจจาระตกลงไปในบ่อฝังอยู่ใต้ดิน แมลงวันจะไม่สามารถตามลงไปได้เพราะติดน้ำกั้นไม่ให้ลงไปอยู่ อุจจาระและน้ำในบ่อจะไหลซึมลงไปในดินจึงเรียกวิธีการนี้ว่า “ส้วมซึม” ซึ่งไอ้เจ้าส้วมซึมนั้นชื่อมันก็ได้บอกอยู่แล้วครับว่าซึม คือเมื่อถ่ายเสร็จ อุจจาระปัสสาวะของเราก็จะลงไปในถังเก็บแล้วเจ้าถังเก็บด้านล่างจะไม่มีอะไรมารองครับ ทุกอย่างก็จะค่อย ๆ ย่อยสลาย ตกตะกอนแล้วก็ซึมลงสู่ดินในที่สุด แต่เจ้าส้วมซึมนั้นก็ยังแก้ปัญหาเรื่องโรคระบาดได้ไม่หมดเพราะว่าของเสียมันยังซึมลงสู่ดิน แล้วก็ซึมไปเรื่อย ๆ ลงสู่แหล่งน้ำ เค้าจึงประดิษฐ์ถังเก็บขึ้นมาใหม่เป็นสองถัง ถังหนึ่งไว้เก็บของเสีย อีกถังหนึ่งไว้ระบายน้ำออกสู่บ่อซึม พอเมื่อมีการเก็บของเสียในรูปแบบนี้ขึ้นมา ของเสียนี้มันก็ไม่มีที่จะไปและเมื่อมันเต็มก็ต้องพึ่งรถดูดส้วมนั่นเอง


สำหรับสุขภัณฑ์ชิ้นนี้ในปัจจุบันยังเป็นที่นิยมของคนไทย เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังติดวิธีการนั่งยอง ๆ แบบนี้อยู่ ขนาดคุณแม่ของผมเองยังไม่ยอมใช้สุขภัณฑ์แบบนั่งราบเลย ถึงขนาดว่าสั่งสุขภัณฑ์แบบนั่งราบมาจะติดตั้งอยู่แล้วแม่ผมเห็นก็บอกให้คนส่งของว่าเอากลับไปเดี๋ยวนี้น่ะ เอาไปเปลี่ยนมาใหม่ สุดท้ายก็ต้องไปเปลี่ยนมาให้สมใจแม่ของผม แล้วสุขภัณฑ์ชิ้นนี้ก็ยังเป็นที่นิยมในห้องน้ำสาธารณะโดยทั่วไป โดยการสังเกตของผมคือห้องน้ำสาธารณะส่วนใหญ่นั้นกว่า 80 % จะสกปรก ส่วนคนไทยเองก็รักสะอาด (เฉพาะตัวเอง) ก็ไม่กล้าที่จะนั่งทับรอยที่เค้านั่งไว้ก่อนหน้า ก็จัดการขึ้นไปเหยียบสุขภัณฑ์นั่งราบแล้วก็นั่งยอง ๆ ทำภาระกิจมันซะเลย คนสร้างห้องน้ำสาธารณะกลัวว่ามันจะพังก่อนถึงเวลาอันควร เค้าจึงสร้างให้มีสุขภัณฑ์ทั้งสองแบบไว้ให้เลือกใช้นั่นเอง
สุขภัณฑ์นั่งยองจะมีให้เลือกทั้งแบบมีฐานและไม่มีฐานครับ วิธีการติดตั้งก็เหมือนกับการติดตั้งโถสุขภัณฑ์ทั่ว ๆ ไป คือต้องทำการวัดระยะท่อน้ำทิ้งกับโถสุขภัณฑ์ให้ชัวร์ก่อนการติดตั้ง ไม่งั้นต้องแก้ไขกันยาวครับ สำหรับระบบบ่อเกรอะหรือบ่อซึม ในปัจจุบันนี้มีการผลิตวงส้วมมาให้ติดตั้งกันง่ายขึ้น เราก็ทำเพียงแค่ขุดหลุมพอที่จะวางวงส้วมนี้ลงไปได้ก็เท่านั้นเอง ที่ผมเห็นนิยมส่วนใหญ่ก็จะใช้วงส้วมมากกว่า 3 หรือ 4 วงในการเป็นถังกักเก็บ แต่ก็จะมีบางบ้านที่จะใช้วงส้วมเองเป็นฐานสุขภัณฑ์สำหรับโถสุขภัณฑ์ที่ไม่มีฐานมาในตัว ในว่าจะติดตั้งง่ายกว่าโถที่มีฐานมาให้อยู่แล้ว และอีกเหตุผลหนึ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่นิยมสุขภัณฑ์แบบมีฐานในตัวก็คงเนื่องมาจากฐานที่ว่านี้มันสูง แล้วสรีระร่างกายของแต่ละคนของสมาชิกในบ้านไม่เหมือนกันคือ บางคนเหยียบลงไปตรงที่วางเท้าได้พอดี บางคนเหยียบได้ครึ่งเดียวอย่างเช่นผมเอง มันก็จะเสี่ยงอย่างมากในการนั่งปลดทุกข์ เปรียบได้กับการยืนอยู่บนที่สูงก็มักจะพลาดตกลงมาได้ง่าย คงไม่มีใครอยากพลาดตกลงมาใช่ไหมครับ เพราะมันคงไม่ใช่แค่เจ็บอย่างเดียวคงได้มีอย่างอื่นแถมมาด้วย พออ่านมาถึงตรงนี้ผมเชื่อว่าทุกคนคงได้รู้จักกับ คอห่าน หรือโถสุขภัณฑ์นั่งยองมากขึ้นอย่างแน่นอน ครั้งหน้าผมจะพูดถึงโถสุขภัณฑ์อีกเช่นกันนั่นคือ “ชักโครก” กับตอนที่มีชื่อว่า “ชักโครก....ชักครอก” แบบไหนถึงจะใช้ได้ แล้วพบกันใหม่สวัสดีครับ







ระพีพัฒน์
ข้อมูลประกอบจาก วิกิพีเดีย
ภาพประกอบจาก อเมริกันสแตนดาร์ด
www.ebuild.co.th

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

ครบเครื่องเรื่องสุขภัณฑ์ ตอนที่ 1 กว่าจะมาเป็น “ส้วม” (ห้องน้ำ)


โถสุขภัณฑ์เป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญที่อยู่คู่ห้องน้ำ และเป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญที่มนุษย์เราเองขาดไม่ได้หากขาดอุปกรณ์ชิ้นนี้ไปชีวิตเราก็จะขาดความสุขเต็มไปด้วยทุกข์เพราะไม่ได้ปลดทุกข์นั่นเอง ก่อนจะไปพูดถึงเรื่องโถสุขภัณฑ์หรือสุขภัณฑ์ชิ้นอื่น ๆ เราควรที่จะไปทำความรู้จักกับห้องน้ำของเราก่อนว่ามีวิวัฒนาการมาอย่างไร


แต่ก่อนจะมาเป็นห้องน้ำอย่างในทุกวันนี้แต่เดิมคนไทยนั้นไม่รู้จักหรอกครับกับคำว่าห้องน้ำ คนเราในสมัยก่อนนั้นจะทำกิจธุระส่วนตัวทีก็จะบอกว่า “ไปทุ่ง” ก็คือไปในทุ่งนาป่าเขานั่นแหละครับไปปล่อยทุกข์กันที่นั่นเลย จนเมื่อ พ.ศ.2440 รัฐบาลไทยได้มีพระราชกำหนดให้ประชาชนขับถ่ายใน “ส้วม” ชาวบ้านตาดำ ๆ จึงรู้จักคำว่าส้วมอย่างจริงจังก็คราวนี้ ซึ่งก่อนจะมีพระราชกำหนดนี้ส้วมมีมานานแล้วครับ แต่ผู้มีสิทธิใช้ก็ได้แก่ กลุ่มของกษัตริย์ เจ้านาย ขุนนางและผู้มีฐานะดี กลุ่มของพระที่อยู่ภายใต้พระธรรมวินัย จนกระทั่งในปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ได้มีพระราชกำหนดที่กล่าวถึงในต้อนต้นเกิดขึ้นมา ก็เพราะเนื่องจากของเสียที่เรา ๆ ขับถ่ายกันออกไปนั้นเป็นตัวเกิดโรคระบาดชั้นดี ในยุคแรก ๆ ของส้วมนั้นจากที่ผมสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ ส้วมตามชนบทหรือยุคแรก ๆ จะเป็นลักษณะหลุม แล้วนำไม้มาวางพาดกับปากหลุมจะสองแผ่นหรือแผ่นเดียวก็แล้วแต่ถนัด จากนั้นก็ขับถ่ายลงในหลุมที่ว่านี้ เมื่อหลุมเต็มก็จะจัดการกลบฝังซะ แล้วย้ายที่ทำส้วมหลุมใหม่ ส่วนในเขตเมืองส้วมจะเป็นแบบส้วมถังเท หลักการทำงานก็เป็นเช่นเดียวกันกับส้วมหลุมตามชนบทแต่ส้วมแบบนี้เมื่อถึงเวลาจะมีบริษัทที่ได้รับสัมปทานมาเก็บอุจจาระเพื่อนำไปเททิ้งนั่นเอง
ต่อมาได้มีการประดิษฐ์คิดค้นส้วมรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับโรคระบาดได้ ดังเช่น ส้วมบุญสะอาด ผู้ประดิษฐ์คือนายอินทร์ บุญสะอาด มีลักษณะการทำงานที่ฝาปิดหลุมส้วมมีลักษณะเป็นลิ้นและลิ้นนี้จะเข้าไปขัดกับประตูส้วม คนที่เข้าส้วมต้องใช้เท้าถีบให้ลิ้นที่เป็นฝาปิดนี้ไปขัดกับประตูและจะมี ส่วนยื่นออกมานอกประตู จะทำให้คนข้างนอกรู้ว่ามีคนใช้งานอยู่ เมื่อถ่ายเสร็จแล้วผู้ใช้จะต้องปิดฝาส้วมไว้ตามเดิม มิฉะนั้นจะไม่สามารถเปิดประตูส้วมออกมาข้างนอกได้ เป็นกลไกเพื่อป้องกันการลืมปิดฝาหลุม แต่ด้วยส้วมชนิดนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับแมลงวันและกลิ่นอยู่ จึงได้พัฒนามาเป็นส้วมคอห่านหรือส้วมราดน้ำที่คนส่วนใหญ่ในไทยยังนิยมใช้จนถึงทุกวันนี้



ส้วมอีกชนิดหนึ่งที่จะไม่กล่าวถึงเลยไม่ได้นั่นคือ ส้วมชักโครก ขุนนางชาวอังกฤษชื่อ เซอร์จอห์น แฮริงตัน ได้ประดิษฐ์ส้วมชักโครกรุ่นแรกขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1596 (พ.ศ. 2139) มีถังพักน้ำติดตั้งสูงเหนือโถส้วม เมื่อกดชักโครกแล้ว น้ำจะดันของเสียผ่านท่อไปยังถังเก็บ ต่อมาในปี ค.ศ. 1775 (พ.ศ. 2318) อเล็กซานเดอร์ คัมมิงส์ ได้พัฒนาส้วมชักโครก โดยการดัดท่อระบายของเสียข้างใต้ที่ลงบ่อเกรอะให้เป็นรูปตัวยู สามารถกักน้ำไว้ในท่อ และยังกันกลิ่นของเสียไม่ให้ย้อนกลับขึ้นมาได้ นับเป็นต้นแบบของชักโครกที่ใช้งานในปัจจุบัน ผมว่าดูไปดูมามันช่างเหมือนกับส้วมคอห่านบ้านเราซะจริง ๆ แค่เปลี่ยนจากนั่งยอง ๆ มานั่งราบแทน


ถึงตรงนี้ทุกคนพอจะทราบแล้วว่าวิวัฒนาการของส้วมนั้นเป็นมาอย่างไร แต่ทุกคนคงคิดเช่นเดียวกัน เห็นพูดแต่ส้วมอย่างเดียวแต่กลับเกริ่นหัวว่ามีห้องน้ำด้วย เอ...แล้วห้องน้ำหน้าตาเป็นอย่างไรล่ะ เพราะในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนั้นก็ให้ข้อมูลไว้เยอะจนอ่านแค่ 3 วินาทีก็จบ ผมก็ลองค้น ๆ ข้อมูลไปเรื่อยจนไปเจอกับบทความหนึ่งของคุณสมพูน ปัณฑิตานนท์ ได้ให้คำจำกัดความของห้องน้ำไว้ว่า “ ห้องน้ำ คือห้องรโหฐานซึ่งเราๆ ท่านๆ จะพึงใช้เป็นห้องอาบน้ำ ชำระร่างกาย และเปลื้องทุกข์หนักเบาโดยเสรี โดยที่คำนี้ฟังดูแล้วก็เข้าใจง่าย และรื่นหูดี เลยกลายเป็นคำที่ยอมรับใช้กันโดยทั่วไปนั่นเอง ” ซึ่งท่านเองก็ได้กล่าวขยายความไปอีกว่าห้องน้ำก็อาจจะเป็นเพราะสังคมเราในปัจจุบันล้วนเร่งรีบจึงต้องการทำธุระกิจส่วนตัวตอนเช้าให้เสร็จไปทีเดียว จึงรวมทั้งห้องอาบน้ำและห้องปลดทุกข์ไว้ด้วยกัน ก็อย่างที่ทราบ ๆ กันดีแล้วว่าในปัจจุบันนั้นห้องน้ำหลัก ๆ ของแต่ละบ้านนั้นก็มี โถสุขภัณฑ์ อ่างล้างหน้า ฝักบัวอาบน้ำ ถ้าหากฐานะทางบ้านดีหน่อยก็มีอ่างอาบน้ำด้วย สำหรับเรื่องเครื่องสุขภัณฑ์ผมจะนำมาบอกให้รู้ในคราวหน้าครับว่าสุขภัณฑ์แต่ละชนิดมีหลักการณ์ทำงานหรือวิธีการอย่างไร ส่วนเรื่องกว่าจะมาเป็นส้วม(ห้องน้ำ)ให้เรา ๆ ท่าน ๆ ใช้กันในปัจจุบัน ผมขอกล่าวคำอำลาเพียงเท่านี้ครับ ครั้งหน้าพบกับสุขภัณฑ์ชิ้นหนึ่งที่ไปตามบ้านชนบทหรือตามห้องน้ำสาธารณะจะเห็นอย่างแน่นอนกับ “ระวังจะตกคอห่าน” แล้วพบกันครับ



ระพีพัฒน์

ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย, คุณสมพูน ปัณฑิตานนท์
www.ebuild.co.th
 

สถิติ