วันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2555


What is …PC ? [Steel Wires Strands for Prestressed Concrete : PC Strand]
PC คืออะไร [ลวดเหล็กกล้าตีเกลียวสำหรับคอนกรีตอัดแรง]

                    สวัสดีครับกับตอนที่ต่อมาจาก PC Wire คราวนี้ผมไม่ได้กลับมาเพียงหนึ่งเดียวครับ แต่ผมกลับมาพร้อมกับการพันเกลียว  เอาเป็นว่า ผมจะพูดถึง PC Strand นั่นแหละครับ คิด ๆ ดูแล้วผมอยากให้คนไทยเป็นเหมือน PC Strand จริง ๆ รักใคร่กันอย่างกลมเกลียว  เยิ่นเย้อมาเยอะแล้วครับ ผมว่าเราไปเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า

PC  Strand ชื่อเต็ม Steel Wire Strands for Prestressed Concrete
                    ลวดเหล็กกล้าตีเกลียวสำหรับคอนกรีตอัดแรงนี้ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากลวดเหล็กคาร์บอนสูงตั้งแต่ 2 เส้นขึ้นไปตีเกลียวเข้าด้วยกัน ให้มีระยะช่วงเกลียวสม่ำเสมอและผ่านขบวนการคลายความเค้นก่อนม้วนเป็นขด โดยลวดเหล็กกล้าตีเกลียวจะมีมาตรฐานเลขที่ มอก. 420-2540 กำกับอยู่ ซึ่งเป็นการปรับปรุงจากฉบับเดิมเลขที่ มอก. 420-2534  และมาตรฐานของ มอก.420-2540 นี้จะครอบคลุมลวดเหล็กกล้าตีเกลียวทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นลวดเหล็กกล้าตีเกลียวสำหรับคอนกรีตอัดแรงชนิด 2 เส้น, ชนิด 3 เส้น, ชนิด 7 เส้น และชนิด 19 เส้น  และคราวนี้ผมก็แบ่งมาให้ท่านผู้อ่านดูเป็นข้อ ๆ อีกเช่นเดิมครับ ได้แก่
          
                    1.   เกรดที่ระบุในสเป็คสินค้ามีผลอย่างไรกับการนำไปใช้งาน
             2.  Low Relaxation กับ Normal Relaxation คืออะไรและมีผลอย่างไร
             3. ลวดตีเกลียวต่างจำนวนเส้นกัน แต่ละแบบเป็นอย่างไร
             4. เครื่องหมายและฉลากในลวดเหล็กตีเกลียวเป็นอย่างไรแล้วอ่านอย่างไร
                              แล้วก็เป็นเช่นเดิมครับที่ผมจะแนะนำให้ท่านผู้อ่านที่สนใจเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งใน 4 ข้อนี้ ก็ขอให้ท่านผู้อ่านข้ามไปอ่านยังหัวข้อที่ท่านสนใจได้เลยครับ ผมการันตีว่าไม่งงอย่างแน่นอนไปเริ่มกันเลยครับ


 1.  เกรดที่ระบุในสเป็คสินค้ามีผลอย่างไรกับการนำไปใช้งาน


                            ก่อนที่เรานั้นจะไปฟันธงแบบหมอลักษณ์ ผมก็ขออธิบายของเกรดในแต่ละตัวของเหล็กตีเกลียวแต่ละขนาดมาให้ท่านผู้อ่านได้ศึกษากันครับ  เท่าที่ผมพบเห็นส่วนใหญ่แล้วลวดเหล็กชนิดนี้มักมีขายตามท้องตลาดแค่ตัว หรือ สองตัวเท่านั้น ส่วนใหญ่ก็จะมีแต่เหล็กตีเกลียวแบบ 7 เส้น เกรดที่ระบุในเหล็กตีเกลียวจึงมีไม่มากตามไปด้วย และจากที่ผมหาข้อมูลมาผมไม่สามารถหาได้เลยว่า บริษัทใดมีเหล็กตีเกลียวแบบ 19 เส้น เอาเป็นว่าผมขออ้างอิงจากมาตรฐานอุตสาหกรรมเป็นหลักแล้วกันครับ เราไปเริ่มกันดีกว่า

                         เหล็กตีเกลียวแบบ 2 เส้น จะมีเพียงขนาดเดียวนั่นคือเส้นผ่านศูนย์กลางที่ 5.8 และมีเกรดเพียงค่าเดียวนั่นคือ 1 910 นิวตันต่อตารางมิลลิเมตรครับ
                        เหล็กตีเกลียวแบบ 3 เส้น จะมีอยู่ 4 เกรดครับ ได้แก่ 1 770 มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ 5.2 กับ 7.5  เกรด 1 860 เส้นผ่านศูนย์กลางที่ 7.5  เกรด 1 910 มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ 6.2  และสุดท้ายเกรด 1 960 จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ 5.2 ครับ
                        เหล็กตีเกลียวแบบ 7 เส้น ในที่นี้ผมขอพูดถึงเฉพาะแบบธรรมดานะครับ เพราะในแบบอัดแน่นนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วไม่ผลิตหรือไม่มีในท้องตลาดนั่นเอง  เหล็กตีเกลียวแบบ 7 เส้นเป็นเหล็กตีเกลียวที่นิยมมากที่สุดในท้องตลาด  โดยเกรดจะมีอยู่เพียง 2 เกรดคือ  1 720  กับ  1 860  โดยถ้าหากเป็น 1 720 จะมีเหล็กที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ 9.3  10.8  12.4  และ 15.2  ส่วนเกรด 1 860  จะมีเหล็กที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ 9.5  11.1  12.7  และ 15.2  โดยหากสังเกตให้ดีจะพบว่า  ในขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ 15.2  จะมีเกรดที่ระบุอยู่ทั้ง 2 เกรดครับ
                        เหล็กตีเกลียวแบบ 19 เส้น  จะมีเกรดเพียง 2 เกรดเช่นเดียวกับเหล็กตีเกลียวแบบ 7 เส้นครับ แต่เกรดที่ระบุจะเหมือนกันแค่เพียง 1 860 เท่านั้นนะครับ เพราะเกรดที่ระบุอีกตัวนั้นเป็น 1 810  โดยเกรดที่ระบุ 1 860 จะมีเหล็กตีเกลียวที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ 17.8 กับ 19.3 ครับ  และเกรดที่ระบุ 1 810  จะมีเหล็กตีเกลียวที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง  20.3 กับ 21.8 ครับ  และเช่นเคยผมก็มีภาพตาราง Specification มาให้ชมว่าเกรดที่ระบุในเหล็กตีเกลียวนั้นสามารถชมได้จากส่วนไหนของตาราง


                      และเช่นเดิมผมก็ขอยกข้อสรุปจากลวดเหล็กมาเลยแล้วกันว่าจากรูปตัวอย่างที่ผมมาให้ได้ชม เกรดนั้นจะระบุอยู่ใน ตาราง Specification ในทุก ๆ บริษัทครับ โดยเมื่อเรามองแบบผิวเผินแล้ว ทุกคนคงคิดว่าไม่มีอะไรที่เห็นว่าแตกต่างกันตรงไหน แต่ถ้าหากมองให้ลึกลงไปแล้วก็จะพบความแตกต่างกันครับ หากจะให้อธิบายนั้นก็คงเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน ผมขอสรุปเช่นเดิมอีกว่า เกรดที่แตกต่างกันนั้น มันเป็นค่าการทนแรงดึงระบุเป็น นิวตันต่อตารางมิลลิเมตร โดยคำนวณจากพื้นที่หน้าตัดที่ระบุกับค่าลักษณะ เฉพาะแรงดึงสูงสุดโดยปัดเศษถึง 10 นิวตันต่อตารางมิลลิเมตรที่ใกล้เคียงที่สุด และสำหรับค่าที่เห็นเป็น 1 860 นั้นก็เป็นผลมาจากการทดสอบความผ่อนคลายที่ 1 000 ชั่วโมงครับ


 2.   Low Relaxation กับ Normal Relaxation คืออะไร และมีผลอย่างไร

                      อย่างที่ผมเคยได้สรุปไว้กับตอน ลวดเหล็กกล้าสำหรับคอนกรีตอัดแรง หรือ PC Wire ว่าในเรื่องของ Relaxation นั้นจะมีผลในเชิงลึก ซึ่งหากให้อธิบายก็คงอธิบายกันเป็นวัน และวิศวกรก็ได้กล่าวไว้เพิ่มเติมอีกว่าเมื่อผลิต Low Relaxation มาแล้ว จะครอบคลุมตัว Normal Relaxation ไปโดยปริยาย เพราะเหตุนี้ในท้องตลาดส่วนใหญ่จึงนิยมใช้แต่ตัว Low Relaxation และในเรื่องราคานั้นตัว Low Relaxation จะมีราคาที่ถูกกว่าตัว Normal Relaxation อีกด้วย ของถูกใคร ๆ ก็ชอบใช่ไหมละครับ  ก่อนที่เราจะไปดูว่า  Relaxation นั้นอยู่ส่วนใดของตาราง Specification ผมขออธิบายย้ำกับความหมายของ Relaxation กันอีกทีครับ

                             “Relaxation” หรือ ความผ่อนคลาย หมายถึง ความเสื่อมสูญแรงดึงตามระยะเวลาของลวดตีเกลียว  ที่มีความยาวคงที่คิดเป็นร้อยละของแรงดึงเริ่มแรกที่ใช้กับลวดตีเกลียว








3.  ลวดตีเกลียวที่ต่างจำนวนเส้นกันหน้าตาเป็นอย่างไร

                            ลวดเหล็กกล้าตีเกลียวสำหรับคอนกรีตอัดแรงนั้นโดยส่วนใหญ่ในท้องตลาดจะนิยมเหล็กตีเกลียวแบบ  7  เส้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เหล็กมีการตีเกลียวกันหลายแบบครับ อย่างที่ผมเกริ่นนำไปตั้งแต่ต้น จะมีอยู่ 4 แบบคือ   เหล็กตีเกลียว 2 เส้น  3  เส้น  7 เส้น  และ 19 เส้น  ในลักษณะการตีเกลียวของแต่ละแบบก็แตกต่างกันออกไป  ผมว่าเราควรไปเรียนรู้กันดีกว่าว่าเหล็กตีเกลียวแต่ละแบบมันเป็นอย่างไร


ลวดเหล็กกล้าตีเกลียวชนิด  2  เส้น สำหรับคอนกรีตอัดแรง หมายถึง  ลวดตีเกลียวซึ่งประกอบด้วยลวด 2 เส้นที่มีขนาดระบุเดียวกัน ตีเกลียวรอบแนวแกนร่วม มีระยะช่วงเกลียวระหว่าง 12 ถึง 22 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางระบุของลวดตีเกลียว พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือพันกันเองครับ

ลวดเหล็กกล้าตีเกลียวชนิด  3  เส้น สำหรับคอนกรีตอัดแรง หมายถึง  ลวดตีเกลียวซึ่งประกอบด้วยลวด 3 เส้นที่มีขนาดระบุเดียวกัน ตีเกลียวรอบแนวแกนร่วม มีระยะช่วงเกลียวระหว่าง 12 ถึง 22 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางระบุของลวดตีเกลียว  ความหมายเดียวกับลวด 2 เส้นเลยครับ

ลวดเหล็กกล้าตีเกลียวชนิด  7  เส้น สำหรับคอนกรีตอัดแรง หมายถึง  ลวดตีเกลียวซึ่งประกอบไปด้วยเหล็กเส้นแกนซึ่งเส้นผ่านศูนย์กลางต้องใหญ่กว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของลวดที่พันกันอยู่โดยรอบ  ไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 และต้องมีระยะช่วงเกลียวระหว่าง 12 ถึง 18 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางระบุของลวดตีเกลียว


ลวดเหล็กกล้าตีเกลียวชนิด  19  เส้น สำหรับคอนกรีตอัดแรง หมายถึง ลวดตีเกลียวซึ่งประกอบไปด้วยเหล็กเส้นแกน 1 เส้น ชั้นกลาง 9 เส้น ชั้นนอก 9 เส้น หรือแกน 1 เส้น ชั้นกลาง 6 เส้น ชั้นนอก 12 เส้น และต้องมีระยะช่วงเกลียวระหว่าง 12 ถึง 22 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางระบุของลวดตีเกลียว



4.           เครื่องหมายและฉลากในลวดตีเกลียว เป็นอย่างไร แล้วอ่านอย่างไร

                       เช่นเดิมกับในเรื่องของฉลาก เพราะถ้าหากเป็นเหล็กประเภทอื่นจะมีการตีตราลงไปในตัวเหล็ก  แต่สำหรับลวดเหล็กแล้วคงต้องใช้แว่นขยายส่อง แต่เมื่อท่านผู้อ่านได้อ่านถึงตรงนี้คงจะมีความสงสัยว่าลวดตีเกลียวเส้นมันก็ใหญ่ขึ้นมาตั้งเยอะ ทำไมไม่ตีตราลงไปที่เหล็กเลยเพราะอย่างลวด 7 เส้นมีขนาดตั้งแต่  9.3 – 15.2  มม.  ผมก็ขอบอกไว้ตรงนี้เลยว่าท่านผู้อ่านอย่าลืมนะครับเหล็กตีเกลียวมันใหญ่ขึ้นก็จริงแต่เหล็กก่อนจะมาตีเกลียวมันก็ยังเป็นเส้นเล็ก ๆ อยู่ดี  ด้วยเหตุนี้ลวดเหล็กและลวดเหล็กตีเกลียวจึงมีฉลากไว้ให้แสดงคุณสมบัติกันผู้บริโภคถูกหลอกลวงเพราะแม้แต่กะปิน้ำปลาเค้ามีฉลากแสดงอย่างครบถ้วนไม่ว่าจะเป็นส่วนประกอบ โภชนาการ ก็ยังจะมีกะปิน้ำปลาปลอมกัน (นอกเรื่องอีกแล้ว) และที่ลวดตีเกลียวต้องมีฉลากก็เพราะว่า  ทางมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือ มอก. ได้บังคับให้แสดงฉลากคุณสมบัติมาจากโรงงานที่ผลิตซึ่งประกอบไปด้วยดังนี้ครับ



ที่ลวดตีเกลียวทุกขดต้องมีป้ายผูกติดอยู่  และที่ป้ายนั้นอย่างน้อยต้องมีเลข  อักษรหรือเครื่องหมายแจ้งรายละเอียดต่อไปนี้ให้เห็นได้ง่าย ชัดเจน


1.               ชื่อผลิตภัณฑ์ เป็นภาษาอังกฤษว่า  “ PC STRAND ”
2.               ชนิดและแบบของลวดตีเกลียว
3.               เส้นผ่านศูนย์กลางระบุ
4.               ความทนแรงดึงระบุ
5.               ประเภทความผ่อนคลายดังนี้
       -      Relax 1 สำหรับประเภทความผ่อนคลายธรรมดา
       -      Relax 2  สำหรับประเภทความผ่อนคลายต่ำ
6.               ทิศทางการตีเกลียวลวด
7.               น้ำหนักสุทธิของขด  เป็นกิโลกรัม
8.               หมายเลขของขด
9.               ชื่อผู้ทำหรือโรงงานที่ทำ หรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน
ตัวอย่าง    PC STRAND – 7 Wire  ordinary – 12.7 - 1860 – Relax 2 – right หมายถึง ลวดตีเกลียวชนิด 7 เส้น แบบธรรมดาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางระบุ  12.7  มิลลิเมตร  ความทนแรงดึงระบุ  1860  นิวตันต่อตารางมิลลิเมตร ประเภทความผ่อนคลายต่ำ ทิศทางการตีเกลียวทางขวา

                         ก็จบกันไปสำหรับลวดเหล็กและลวดเหล็กตีเกลียวครับ  กลับมาคราวนี้ผมคิดว่าท่านผู้อ่านคงได้รับความรู้ไปมากทีเดียวเพราะขนาดผมเองที่เขียนบทความนี้ไปและหาข้อมูลประกอบไป ผมก็ยังได้ทราบในหลาย ๆ เรื่องที่ผมเองก็เพิ่งทราบเช่นกัน  สุดท้ายนี้ผมก็หวังว่าคงจะได้พบกับท่านผู้อ่านอีกในเร็ว ๆ นี้ และขอให้ท่านผู้อ่านสุขภาพร่างกายแข็งแรงปราศจากอุปสรรคใด ๆ มาขัดขวางนะครับ ด้วยความหวังดีจากผม นายระพีพัฒน์  แล้วพบกันใหม่สวัสดีครับ






ระพีพัฒน์
ภาพประกอบ   SIW, RWI, BSW, TWP
ข้อมูลประกอบ 
 SIW, RWI, BSW, TWP
ข้อมูลอ้างอิง   มอก. 420-2540


www.ebuild.co.th








0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 

สถิติ