วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

ครบเครื่องเรื่องสุขภัณฑ์ ตอนที่ 1 กว่าจะมาเป็น “ส้วม” (ห้องน้ำ)


โถสุขภัณฑ์เป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญที่อยู่คู่ห้องน้ำ และเป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญที่มนุษย์เราเองขาดไม่ได้หากขาดอุปกรณ์ชิ้นนี้ไปชีวิตเราก็จะขาดความสุขเต็มไปด้วยทุกข์เพราะไม่ได้ปลดทุกข์นั่นเอง ก่อนจะไปพูดถึงเรื่องโถสุขภัณฑ์หรือสุขภัณฑ์ชิ้นอื่น ๆ เราควรที่จะไปทำความรู้จักกับห้องน้ำของเราก่อนว่ามีวิวัฒนาการมาอย่างไร


แต่ก่อนจะมาเป็นห้องน้ำอย่างในทุกวันนี้แต่เดิมคนไทยนั้นไม่รู้จักหรอกครับกับคำว่าห้องน้ำ คนเราในสมัยก่อนนั้นจะทำกิจธุระส่วนตัวทีก็จะบอกว่า “ไปทุ่ง” ก็คือไปในทุ่งนาป่าเขานั่นแหละครับไปปล่อยทุกข์กันที่นั่นเลย จนเมื่อ พ.ศ.2440 รัฐบาลไทยได้มีพระราชกำหนดให้ประชาชนขับถ่ายใน “ส้วม” ชาวบ้านตาดำ ๆ จึงรู้จักคำว่าส้วมอย่างจริงจังก็คราวนี้ ซึ่งก่อนจะมีพระราชกำหนดนี้ส้วมมีมานานแล้วครับ แต่ผู้มีสิทธิใช้ก็ได้แก่ กลุ่มของกษัตริย์ เจ้านาย ขุนนางและผู้มีฐานะดี กลุ่มของพระที่อยู่ภายใต้พระธรรมวินัย จนกระทั่งในปลายรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ได้มีพระราชกำหนดที่กล่าวถึงในต้อนต้นเกิดขึ้นมา ก็เพราะเนื่องจากของเสียที่เรา ๆ ขับถ่ายกันออกไปนั้นเป็นตัวเกิดโรคระบาดชั้นดี ในยุคแรก ๆ ของส้วมนั้นจากที่ผมสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ ส้วมตามชนบทหรือยุคแรก ๆ จะเป็นลักษณะหลุม แล้วนำไม้มาวางพาดกับปากหลุมจะสองแผ่นหรือแผ่นเดียวก็แล้วแต่ถนัด จากนั้นก็ขับถ่ายลงในหลุมที่ว่านี้ เมื่อหลุมเต็มก็จะจัดการกลบฝังซะ แล้วย้ายที่ทำส้วมหลุมใหม่ ส่วนในเขตเมืองส้วมจะเป็นแบบส้วมถังเท หลักการทำงานก็เป็นเช่นเดียวกันกับส้วมหลุมตามชนบทแต่ส้วมแบบนี้เมื่อถึงเวลาจะมีบริษัทที่ได้รับสัมปทานมาเก็บอุจจาระเพื่อนำไปเททิ้งนั่นเอง
ต่อมาได้มีการประดิษฐ์คิดค้นส้วมรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับโรคระบาดได้ ดังเช่น ส้วมบุญสะอาด ผู้ประดิษฐ์คือนายอินทร์ บุญสะอาด มีลักษณะการทำงานที่ฝาปิดหลุมส้วมมีลักษณะเป็นลิ้นและลิ้นนี้จะเข้าไปขัดกับประตูส้วม คนที่เข้าส้วมต้องใช้เท้าถีบให้ลิ้นที่เป็นฝาปิดนี้ไปขัดกับประตูและจะมี ส่วนยื่นออกมานอกประตู จะทำให้คนข้างนอกรู้ว่ามีคนใช้งานอยู่ เมื่อถ่ายเสร็จแล้วผู้ใช้จะต้องปิดฝาส้วมไว้ตามเดิม มิฉะนั้นจะไม่สามารถเปิดประตูส้วมออกมาข้างนอกได้ เป็นกลไกเพื่อป้องกันการลืมปิดฝาหลุม แต่ด้วยส้วมชนิดนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับแมลงวันและกลิ่นอยู่ จึงได้พัฒนามาเป็นส้วมคอห่านหรือส้วมราดน้ำที่คนส่วนใหญ่ในไทยยังนิยมใช้จนถึงทุกวันนี้



ส้วมอีกชนิดหนึ่งที่จะไม่กล่าวถึงเลยไม่ได้นั่นคือ ส้วมชักโครก ขุนนางชาวอังกฤษชื่อ เซอร์จอห์น แฮริงตัน ได้ประดิษฐ์ส้วมชักโครกรุ่นแรกขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1596 (พ.ศ. 2139) มีถังพักน้ำติดตั้งสูงเหนือโถส้วม เมื่อกดชักโครกแล้ว น้ำจะดันของเสียผ่านท่อไปยังถังเก็บ ต่อมาในปี ค.ศ. 1775 (พ.ศ. 2318) อเล็กซานเดอร์ คัมมิงส์ ได้พัฒนาส้วมชักโครก โดยการดัดท่อระบายของเสียข้างใต้ที่ลงบ่อเกรอะให้เป็นรูปตัวยู สามารถกักน้ำไว้ในท่อ และยังกันกลิ่นของเสียไม่ให้ย้อนกลับขึ้นมาได้ นับเป็นต้นแบบของชักโครกที่ใช้งานในปัจจุบัน ผมว่าดูไปดูมามันช่างเหมือนกับส้วมคอห่านบ้านเราซะจริง ๆ แค่เปลี่ยนจากนั่งยอง ๆ มานั่งราบแทน


ถึงตรงนี้ทุกคนพอจะทราบแล้วว่าวิวัฒนาการของส้วมนั้นเป็นมาอย่างไร แต่ทุกคนคงคิดเช่นเดียวกัน เห็นพูดแต่ส้วมอย่างเดียวแต่กลับเกริ่นหัวว่ามีห้องน้ำด้วย เอ...แล้วห้องน้ำหน้าตาเป็นอย่างไรล่ะ เพราะในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานนั้นก็ให้ข้อมูลไว้เยอะจนอ่านแค่ 3 วินาทีก็จบ ผมก็ลองค้น ๆ ข้อมูลไปเรื่อยจนไปเจอกับบทความหนึ่งของคุณสมพูน ปัณฑิตานนท์ ได้ให้คำจำกัดความของห้องน้ำไว้ว่า “ ห้องน้ำ คือห้องรโหฐานซึ่งเราๆ ท่านๆ จะพึงใช้เป็นห้องอาบน้ำ ชำระร่างกาย และเปลื้องทุกข์หนักเบาโดยเสรี โดยที่คำนี้ฟังดูแล้วก็เข้าใจง่าย และรื่นหูดี เลยกลายเป็นคำที่ยอมรับใช้กันโดยทั่วไปนั่นเอง ” ซึ่งท่านเองก็ได้กล่าวขยายความไปอีกว่าห้องน้ำก็อาจจะเป็นเพราะสังคมเราในปัจจุบันล้วนเร่งรีบจึงต้องการทำธุระกิจส่วนตัวตอนเช้าให้เสร็จไปทีเดียว จึงรวมทั้งห้องอาบน้ำและห้องปลดทุกข์ไว้ด้วยกัน ก็อย่างที่ทราบ ๆ กันดีแล้วว่าในปัจจุบันนั้นห้องน้ำหลัก ๆ ของแต่ละบ้านนั้นก็มี โถสุขภัณฑ์ อ่างล้างหน้า ฝักบัวอาบน้ำ ถ้าหากฐานะทางบ้านดีหน่อยก็มีอ่างอาบน้ำด้วย สำหรับเรื่องเครื่องสุขภัณฑ์ผมจะนำมาบอกให้รู้ในคราวหน้าครับว่าสุขภัณฑ์แต่ละชนิดมีหลักการณ์ทำงานหรือวิธีการอย่างไร ส่วนเรื่องกว่าจะมาเป็นส้วม(ห้องน้ำ)ให้เรา ๆ ท่าน ๆ ใช้กันในปัจจุบัน ผมขอกล่าวคำอำลาเพียงเท่านี้ครับ ครั้งหน้าพบกับสุขภัณฑ์ชิ้นหนึ่งที่ไปตามบ้านชนบทหรือตามห้องน้ำสาธารณะจะเห็นอย่างแน่นอนกับ “ระวังจะตกคอห่าน” แล้วพบกันครับ



ระพีพัฒน์

ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย, คุณสมพูน ปัณฑิตานนท์
www.ebuild.co.th

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 

สถิติ