วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เคล็ดไม่ลับ กับการเลือกซื้อลูกบิดประตู

จะเล่าประสบการณ์ที่เกิดกับตัวให้ฟัง เมื่อไม่นานมานี้เอง พอดี พี่ทีทำงาน ต้องไปซื้อลูกบิดประตู ที่ร้านขายอุปกรณ์ของตกแต่งบ้านแห่งหนึ่ง พอไปถึงตรงโซนที่ขาย ลูกบิด โอ้พระเจ้า! นี่คือสถานที่ ๆ ลูกบิด มารวมตัวกัน มีลูกบิดหลายแบบมาก ทั้งแบบเกลี้ยงเกลาเงาวับ แบบพันก้านยาว แบบหัวมะยมรมควัน หรือจะแบบหรูหราไฮโซ มองแล้วตาลาย บอกตามตรงเลยค่ะ ถ้าเป็นตัวเราเองไปซื้อ ก็ไม่รู้ว่าจะเลือกซื้อแบบไหนดี ที่ให้เหมาะสมกับการใช้งาน ก็เลยลองกลับมาหาข้อมูลเกี่ยวกับลูกปิดประตูดู ว่าแต่ละแบบเป็นยังไง เหมาะกับการใช้งานแบบไหนบ้าง เวลาไปซื้อจะได้ซื้อถูก ๆ

สิ่งแรกก่อนที่เราจะเลือกลูกบิดประตู เราต้องดูก่อนว่า จะนำไปใช้กับประตูแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นประตูห้องน้ำ ห้องนอน ห้องเก็บของ ลูกบิดที่ติดกับประตูเหล่านี้ก็มีลักษณะการทำงานที่แตกต่างกัน ซึ่งลูกบิดประตู ก็จะแบ่งได้ 2 กลุ่ม ใหญ่ ๆ หรือที่เห็นได้ชัด ๆ ก็คือ ลูกบิดแบบไม่มีกุญแจล็อค กับลูกบิดกุญแจแบบมีล็อค

เอาละ!! ได้เวลาทำความรู้จักกับลูกบิดประตูกันแล้ว มาดูกันซิว่า ลูกบิดแบบไม่มีกุญแจล็อค จะมีลักษณะแบบไหน และใช้กับห้องใดบ้าง ซึ่งลูกบิดแบบไม่มีกุญแจล็อคก็จะมีอยู่ด้วยกัน 6 แบบ คือ แบบPassage Latch, Exit door, Dummy Trim, แบบที่ใช้กับเฉลียง, ห้องน้ำและที่ใช้ในโรงพยาบาล พอจะจินตนาการภาพกันออกไหมคะว่ามีลักษณะแบบไหน และทำงานอย่างไร

เริ่มจากลูกบิดแบบแรก คือแบบ Passage Lock แล้วมันเป็นแบบไหนกันละ ไอ้เจ้า Passage Lock เนี่ย อธิบายง่าย ๆ ก็คือ ลูกบิดระบบทางผ่านเป็นแบบที่ใช้กับประตูที่ไม่ต้องการปิดล็อคเลย ส่วนใหญ่จะใช้กับห้องที่ต่อเนื่องกัน ซึ่งลูกบิดทั้งสองด้านสามารถหมุนเปิดออกได้ตลอดเวลา ลองสังเกตดู ลูกบิดทั้งสองด้าน จะไม่มีช่องให้เสียบกุญแจ หรือปุ่มกดล็อค เช่น ห้องครัวกับห้องอาหาร หรือจากห้องนอนไปห้องตู้เสื้อผ้า


แบบที่สอง Exit Lock เป็นประตูระบบทางออกฉุกเฉิน เช่น ประตูทางออกหนีไฟ เป็นต้น ตามห้าง อาคารสำนักงาน คอนโด หรือตามอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไป ก็จะมีบันไดหนีไฟ มีใครเคยลองสังเกตบ้างไหม ว่าประตูที่ปิดระหว่างบันไดกับทางเดิน ใช้ลูกบิดแบบไหน ตรงนี้ทุกคนจำเป็นต้องรู้นะคะ หลักการทำงานของลูกบิดแบบ Exit Lock ก็คือ ลูกบิดที่อยู่ด้านในของตัวอาคารสามารถเปิดออกได้ตลอดเวลา ส่วนด้านนอกหรือด้านที่อยู่ติดบันไดจะล็อคอยู่ตลอดเวลา บางชนิด ด้านนอกก็จะไม่มีลูกบิดแต่จะเป็นแผ่นเรียบ ๆ ใช้สำหรับประตูที่ให้คนออกอย่างเดียว
ใครก็ตามที่ขยันลงบันได จะช่วยชาติประหยัดไฟ ก็ต้องสอบถาม รปภ. หรือเจ้าหน้าที่ ที่ดูแลอาคารด้วยนะคะว่า บันไดนี้สามารถเข้าไปยังชั้นไหนได้ ไม่งั้นก็จะติดอยู่ตรงทางบันไดหนีไฟ คงต้องเดินทุกชั้นเพื่อหาทางออกจากบันไดหนีไฟ หรือต้องรอจนกว่าจะมีคนมา นั่นแหละคะ ถึงจะออกได้ ไม่ก็โทรให้เพื่อนช่วย
แบบที่สาม Dummy Trim หรือลูกบิดประตูแบบติดตาย ใช้สำหรับแทนมือจับประตู เช่น ประตูบานคู่ ประตูบานพับ ประตูบานเลื่อน หรือประตูบานสวิง เช่น ประตูโรงอาหาร

แบบที่สี ลูกบิดเฉลียง แล้วเฉลียงคืออะไร เฉลียง คือส่วนของเรือนที่ต่อออกมาด้านหัวและท้ายเรือน สำหรับนั่งเล่นหรือเดินติดต่อกัน (ที่มา: พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2542) ลูกบิดของประตูที่กั้นระหว่างภายในบ้านกับเฉลียง ลักษณะของลูกบิด คือ ด้านใน (ในตัวบ้าน) จะมีปุ่มให้กดล็อคได้ และหมุนลูกบิดด้านในก็จะคลายล็อค ส่วนด้านนอก (ตรงเฉลียง) ลูกบิดจะเรียบ ไม่มีกุญแจ การล็อคจะเกิดจากการปิดประตูก่อนแล้วค่อยกดปุ่มล็อคเท่านั้น ถ้าเรากดปุ่มล็อคก่อนแล้วค่อยปิดประตู ปุ่มล็อคก็จะคลายออกโดยอัตโนมัติ หลาย ๆ คนก็คงจะเป็นเหมือนกันใช่ไหมคะ แบบว่า ติดนิสัยชอบกดปุ่มล็อคลูกบิด พอเรารู้อย่างนี้แล้ว อย่างน้อยเราก็มั่นใจได้ว่า ตัวเราเองจะไม่เผลอล็อคตัวเองให้อยู่นอกบ้านเป็นแน่ ว่าอย่างนั้นไหมคะ แต่ที่สำคัญ ลูกบิดที่ติดกับประตูเฉลียงของแต่ละที่อาจจะใช้ลูกบิดที่แตกต่างกันออกไป อย่าลืมสังเกตุกันก่อนด้วยนะคะ


ต่อมา แบบที่ห้า ลูกบิดห้องน้ำ / ห้องนอน (เช่น ห้องเด็ก) ลูกบิดแบบนี้จะน่าจะเป็นลูกบิดใกล้ตัวมากที่สุดเลยก็ว่าได้ เคยลองสังเกตกันบ้างหรือเปล่าเอ่ย ว่ามันทำงานอย่างไร การทำงานของลูกบิดแบบนี้ ด้านใน(ห้องน้ำ) จะมีปุ่มให้กดล็อคได้ เพื่อความปลอดภัยและกันไม่ให้คนอื่นเข้ามาขณะที่เรากำลังทำธุระส่วนตัว ส่วนด้านนอกก็บิดลูกบิดเข้าไปยังห้องน้ำได้ปกติ นอกเสียตจากว่าลูกบิดจะถูกล็อคอยู่ เมื่อลูกบิดถูกล็อคอยู่ แล้วบังเอิญว่า ในห้องน้ำมีคนขอให้ช่วย หรือ ล็อคนานเกินไปจนผิดสังเกต เราก็สามารถใช้เหรียญบาท หรือบางชนิดใช้ตะปู แหย่เข้าไปในช่อง เพื่อเปิดประตูห้องน้ำได้ ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นอย่าไปเปิดห้องน้ำที่มีคนใช้งานอยู่นะคะ เดี๋ยวเขาจะหาว่าเป็นพวกโรคจิต หรือคนมีจิตวิตถาร ก็เป็นได้

ลูกบิดแบบสุดท้าย คือ ลูกบิดโรงพยาบาล ถ้าว่าทำไมต้องมีลูกบิดโรงพยาบาล ใช้ลูกบิดแบบทั่วไปไม่ได้หรอ สาเหตุที่มีลูกบิดแยกออกมาเป็นลูกบิดโรงพยาบาล ก็เพื่อป้องกันไม่ให้คนไข้ขังตัวเองไว้ด้านนั่นเอง ลักษณะคือ ลูกบิดด้านในห้องจะมีปุ่มให้กดล็อค โดยการปิดประตูแล้วกดล็อค ส่วนลูกบิดด้านนอกจะมีที่บิด เพื่อเปิดล็อคในกรณีฉุกเฉิน

ครบแล้วทั้ง 6 แบบ เป็นอย่างไรบ้างคะ พอจะเริ่มรู้จักเจ้าลูกบิดขึ้นมาบ้างแล้ว บทความหน้าอย่าลืมติดตามกันนะคะว่า ลูกบิดกุญแจแบบมีล็อค จะมีลักษณะการทำงานอย่างไร และใช้กับประตูห้องแบบไหนบ้าง


หม่อม.N

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ จาก

rgbarchitects.com, บ้านและสวน.com, Homedd.com

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 

สถิติ